วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนสีเขียว ๒๕๕๓

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรให้ ๒๐ โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นโรงเรียนสีเขียว ประจำปี ๒๕๕๓ ตามโครงการยกระดับห้องเรียนสีเขียว มุ่งสู่โรงเรียนสีเขียว เพื่อสร้างเครือข่ายรักษ์พลังงาน จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ หอประชุมการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดนนทบุรี

รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ในฐานะรับผิดชอบการศึกษาของประเทศ ตระหนักดีว่าปัญหาของโลกในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน อุบัติภัยต่างๆ จะต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนแปลงคน เพื่อให้คนเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ชุมชน ประเทศ และโลก โดยเครื่องมือสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคน ก็คือการศึกษา ฉะนั้นกระบวนการจัดการศึกษา จึงต้องสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศและโลก

การจัดตั้งห้องเรียนสีเขียวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน ๔๒๖ โรงเรียนทั่วประเทศ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเป็นต้นแบบความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้มีอุปนิสัยประหยัดพลังงานไฟฟ้า รักษาสิ่งแวดล้อม โดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เกิดทัศนคติการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัย จากนั้นได้ยกระดับห้องเรียนสีเขียวเป็นโรงเรียนสีเขียว ตามโครงการยกระดับห้องเรียนสีเขียว มุ่งสู่โรงเรียนสีเขียว เพื่อสร้างเครือข่ายรักษ์พลังงาน เพื่อให้ห้องเรียนสีเขียวพัฒนาเครือข่ายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมสู่ระดับโรงเรียน พร้อมทั้งขยายผลไปยังโรงเรียนใกล้เคียงและชุมชน และเป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมด้านการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง ปลูกฝังทัศนคติและสร้างพฤติกรรมให้เกิดขึ้นอย่างถาวร ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในการคัดเลือกโรงเรียนสีเขียวอย่างน้อย ๕๐ โรงเรียนภายในปี ๒๕๕๖

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เก่ง ดี มีความสุข สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ศธ.จึงได้ประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน ให้เป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปการศึกษาไทย และความร่วมมือในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้นในช่วง ๑๐ ปีต่อจากนี้ไป รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

ซึ่งในอนาคตจะขยายผลโครงการไปยังสถานศึกษายุคใหม่ของ ศธ. คือ โรงเรียนดีประจำตำบล ให้มีจุดเน้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีสีสัน ร่มรื่น สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ถ้าสามารถขยายผลจากโรงเรียนสีเขียวไปสู่กระบวนการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ได้ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนให้ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษาต่อไป ซึ่งขณะนี้ห้องเรียนและโรงเรียนของ ศธ.เป็นสถานศึกษายุคใหม่ที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน

รมว.ศธ.กล่าวขอบคุณกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ใช้สถานศึกษาเป็นสื่อการศึกษา และพัฒนาเยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของพลังงาน และรู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศและสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียน ที่ร่วมมือและร่วมใจดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นโรงเรียนสีเขียว ประจำปี ๒๕๕๓ ตามโครงการยกระดับห้องเรียนสีเขียว มุ่งสู่โรงเรียนสีเขียว เพื่อสร้างเครือข่ายรักษ์พลังงาน ได้แก่ โรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส กทม., โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ กทม., โรงเรียนไผทอุดมศึกษา กทม., โรงเรียนอนุบาลกาฬสินธุ์ กาฬสินธุ์, โรงเรียนบางละมุง ชลบุรี, โรงเรียนชลกันยานุกูล ชลบุรี, โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่, โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา นครราชสีมา, โรงเรียนประชานุเคราะห์ (มูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์อุปถัมภ์) นครสวรรค์, โรงเรียนอัมพรไพศาล นนทบุรี, โรงเรียนศรีบุณยานนท์ นนทบุรี, โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา พระนครศรีอยุธยา, โรงเรียนสายธรรมจันทร์ ราชบุรี, โรงเรียนอนุบาลลพบุรี ลพบุรี, โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) ลำปาง, โรงเรียนวงศ์วิทย์ สงขลา, โรงเรียนจุลสมัย สงขลา, โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ สมุทรปราการ, โรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงคราม สมุทรปราการ และโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี อุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น: