วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

๗ ยุทธศาสตร์ กระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุม คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการกระจายอำนาจทางการศึกษา ครั้งที่ ๘/๒๕๕๓ เมื่อเร็วๆนี้ โดยหยิบยกร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งได้บทสรุปออกมาเป็น ๗ ยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ในการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย เพื่อให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการศึกษากับเด็กกลุ่มนี้
นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า การประชุมซึ่งมี ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ เป็นประธาน ได้พิจารณาถึงร่างยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายกระจายอำนาจและหน้าที่ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษามากขึ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ โปร่งใสเป็นธรรมและตรวจสอบได้ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ คือ การกระจายอำนาจและหน้าที่ตามศักยภาพและความพร้อม มีมาตรการที่สำคัญ คือ ให้มีแผนขับเคลื่อนการกระจายอำนาจทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร และบริหารทั่วไปแบบขั้นบันได จัดทำคู่มือการบริหารจัดการเขตพื้นที่และสถานศึกษาถอดบทเรียนที่มีการบริหารจัดการดีเด่นเพื่อเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือ การสร้าง การพัฒนา และเสริมสมรรถนะ/ศักยภาพของผู้บริหาร โดยให้มีการคัดสรรผู้บริหารเพื่อให้ได้คนดี คนเก่ง มีระบบ ธรรมาภิบาล ให้เหมาะสมกับสภาพหรือภารกิจที่ปฏิบัติ โดยจัดให้มีระบบจูงใจและความก้าวหน้า

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ คือ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารโดยองค์คณะบุคคล โดยเร่งทบทวนและปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารโดยองค์คณะบุคคล

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ คือ การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งที่สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดให้มีแผนบูรณาการเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ จัดให้มีหน่วยงานกลางศึกษานิเทศก์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษาทุกสังกัด

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ คือ การจัดสรรงบประมาณโดยยึดทั้งพื้นที่และยึดวัตถุประสงค์เฉพาะ ปรับระบบการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงลักษณะการทำงานและความต้องการจำเป็นเพื่อให้เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ คือ ให้มีกลไกและหน่วยงานกลางหรือคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจและหน้าที่การบริหารจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการขับเคลื่อนกลไก

“ยุทธศาสตร์ที่สำคัญซึ่งตนเห็นว่าจะต้องนำมาพิจารณาและได้นำเสนอต่อที่ประชุมและที่ประชุมมีมติเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการกล่าวถึง คือ

ยุทธศาสตร์ที่ ๗ การส่งเสริมความเข้มแข็งให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย เพื่อให้การประสาน สนับสนุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษากับเด็กที่อยู่นอกระบบ ซึ่งยุทศาสตร์ทั้งหมดนี้จะได้นำเสนอ กกศ.ต่อไป” นางสุทธศรี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: