วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุม กนป.

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีนิสัย แรงบันดาลใจในการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ คิดดี คิดเป็น ทำเป็น สามารถเรียนรู้และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย รู้จักตนเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม มีศักยภาพ ทักษะ สมรรถนะในการดำเนินชีวิต เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการระดับสากล เป็นพลังสำคัญในการเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ในมิติที่หลากหลายตามความต้องการของสังคมไทยในปัจจุบัน

รัฐต้องลดบทบาทในฐานะผู้จัด เป็นผู้ซื้อบริการการจัดการศึกษาให้มากขึ้น และทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ติดตาม ประเมินผล กำกับดูแลมาตรฐานและส่งเสริมการมีส่วนร่วม

การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างคุ้มค่า ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน

นโยบายและยุทธศาสตร์


นโยบายที่ ๑ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลทุกระดับ มีจุดเน้นการจัดการศึกษา แบ่งเป็น ๕ ช่วงวัย คือ การศึกษาระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต

- การศึกษาปฐมวัย จัดให้มีหลักสูตรการอบรม มีคู่มือดูแลหญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กได้รับอาหารและสารไอโอดีน ให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงสถานดูแลเด็กแรกเกิดและศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ

- การศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศภาษาที่ ๑ ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดจุดเน้นคุณภาพผู้เรียนแต่ละระดับ จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม ความเป็นไทย และส่งเสริมการใฝ่รู้

- การอาชีวศึกษา ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน จัดการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา เน้นทักษะวิชาชีพควบคู่กับการสร้างสำนึกพลเมือง

- การอุดมศึกษา เน้นการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ เน้นศักยภาพของบัณฑิตในการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และมีหลักสูตรกิจกรรมการทำงานผสมผสานกับการเรียน

- การศึกษาตลอดชีวิต จัดให้มีระบบเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์สำหรับผู้ทำงานและประสงค์ที่จะเรียนเพิ่มทักษะและปรับคุณวุฒิการศึกษา

นโยบายที่ ๒ ปรับปรุงการผลิต การพัฒนา และการใช้ครู จัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ สร้างครูพันธุ์ใหม่และยกเครื่องระบบบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษา

นโยบายที่ ๓ พัฒนาการบริหารจัดการ และการกระจายอำนาจ เน้นการถ่ายโอนสถานศึกษา การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก และการนำร่องสถานศึกษาให้เป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ

นโยบายที่ ๔ ปรับและใช้ระบบการจัดสรรและการระดมทรัพยากรในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณ การตรวจสอบการใช้งบประมาณ จัดสวัสดิการพิเศษสำหรับเด็กด้อยโอกาส การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย และความคุ้มค่าของการจัดการศึกษา

นโยบายที่ ๕ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นการจัดแหล่งเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งสื่อทางไกล สื่อออนไลน์ ส่งเสริมให้คนไทยวัยเรียน วัยทำงาน วัยสูงอายุ ได้เรียนรู้ตลอดชีวิต จัดเครือข่ายการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับระบบ ICT เพื่อการศึกษา และประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ ที่สำคัญคือ มุ่งเน้นสอดแทรกเนื้อหาเรื่องครอบครัวศึกษา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ซึ่งแบ่งกลุ่มผู้มีส่วนร่วมทางการศึกษาเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนอกภาครัฐ และกลุ่มภาครัฐ โดยมียุทธศาสตร์ทั้งหมด ๖ ด้าน ดังนี้

๑. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้แก่ ผู้เรียน ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน

๒. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน/ธุรกิจ สถานประกอบการ ในการจัดโครงการพัฒนาการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

๓. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการ สถาบันศาสนา สื่อมวลชน องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

๔. ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทหน่วยนโยบายทางการศึกษา

๕. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานจัดการศึกษา ตั้งแต่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ผู้บริหาร ครู รวมไปถึงคณะกรรมการสถานศึกษาด้วย

๖. ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบคุรุศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยตั้งคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ (ก.ค.ช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.ศธ. เป็นรองประธานคนที่ ๑ คณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ กพฐ. เลขาธิการ กอศ. เลขาธิการ กกอ. เลขาธิการสภาการศึกษา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา ประธานสภาคณบดี คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญและประสบการณ์สูงที่เกี่ยวข้องกับงานด้านคุรุศึกษา หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อ ก.ค.ช. รวมทั้งสิ้น ๑๒ คน ซึ่งอย่างน้อย ๔ คน ต้องมาจากภาคเอกชน และสามารถทำงานเต็มเวลาอย่างน้อย ๒ คน โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษาที่เลขาธิการสภาการศึกษามอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

๑. กำหนดนโยบายและวางแผนการผลิต การพัฒนาและการใช้ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบอย่างเป็นเอกภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศด้านปริมาณและคุณภาพ

๒. กำหนดกลยุทธ์ในการเสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งแก่สถาบันผลิตครู

๓. วิจัยและพัฒนาครูทั้งระบบ ด้านวิชาการและวิชาชีพ ให้มีคุณภาพมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ

๔. สร้างภาคีเครือข่ายและระดมทรัพยากรจากภายในและภายนอกประเทศ

๕. พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานปฏิรูประบบคุรุศึกษาของประเทศ

๖. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของ ก.ค.ช.

๗. ทำหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิต การพัฒนา และการใช้ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการเสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของสถาบันผลิตครู ตามที่ รมว.ศธ. มอบหมาย

ไม่มีความคิดเห็น: