วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนสู่มาตรฐานสากล

การประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานของโรงเรียน ครู และการประกวด/แข่งขัน กิจกรรมนักเรียนโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลระดับชาติ Towards World Class Education : National Symposium จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การประชุมในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี

รมว.ศธ.กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ที่จะต้องขับเคลื่อนและพัฒนาคนไปสู่เป้าหมายร่วมกับประชาคมอาเซียน คือ การเป็นหนึ่งเดียวทั้งในเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม ศธ.จึงจำเป็นต้องพัฒนาประชากรให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกให้ได้ภายในปี ๒๕๕๘ การที่จะสามารถเข้าสู่เป้าหมายหลักของการเป็นประชาคมอาเซียน และขยายผลสู่ประชาคมอาเซียน+๓ (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันตามปฏิญญาว่า จะต้องเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน ซึ่ง ศธ.ได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาระบบการศึกษา ระบบการเรียนการสอนของสถานศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล โรงเรียนดีประจำอำเภอที่ต้องต่อยอดความเป็นเลิศ และโรงเรียนดีประจำตำบล ที่จะต้องขยายผลให้นักเรียนได้มีทักษะอาชีพ วิถีชีวิตความเป็นไทย และมีความพร้อมไปสู่ความเป็นสากลเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ การสร้างและพัฒนาประชากรให้มีความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังต่อไปนี้

พัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับความเป็นนานาชาติ ศธ.ได้อนุมัติหลักสูตรนานาชาติที่จะเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย โดยได้เน้นย้ำกับ สพฐ.ว่า จะต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับความเป็นไทย วัฒนธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมือง และในขณะเดียวกันก็ต้องทบทวนหลักสูตรของโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล ให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับชาติและมีความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง

พัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล เป็นหน่วยบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยใช้หลักการบริหารแบบองค์รวมในการจัดการศึกษาในทุกระดับอย่างมีคุณภาพ และเชื่อว่าการประกาศนโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้หน่วยบริการทางการศึกษาสามารถรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีทางการศึกษาได้

ฝึกทักษะการคิดที่มีคุณภาพ กระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นจากหลักคิด เกิดความเข้าใจ ความจำ และนำไปสู่การวิเคราะห์/สังเคราะห์ เป็นการแข่งขันในเรื่องเนื้อหาสาระการเรียนรู้มากกว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ฉะนั้นการฝึกทักษะการคิดจะต้องเริ่มต้นจากครู โดยครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้อำนวยการสอน เปลี่ยนจาก Teaching เป็น Learning เพื่อให้เด็กไทยในอนาคตมีทักษะการคิดที่มีคุณภาพ มีทักษะการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครูจะเปลี่ยนการสอนเพื่อให้จำ เป็นการสอนให้นักเรียนมีกระบวนการค้นหาความรู้ ความจริง และรู้วิธีการเรียนรู้

เน้นความเป็นไทย โดยการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอย่างมีคุณภาพ และใช้การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ให้นักเรียนภูมิใจในความเป็นไทย และสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางความคิด เชื้อชาติ ความเป็นอยู่ ค่านิยมได้ การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป

ภาษาต่างประเทศที่มุ่งเน้นการสื่อสารอย่างมีคุณภาพ ต้องทำให้เด็กไทยในอนาคตสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ประชาคมอาเซียนกำหนดให้เป็นภาษากลาง และภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้เน้นย้ำให้ สพฐ.ติดตามดำเนินการอย่างมีคุณภาพมาตรฐานในโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลแล้ว

รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ ๑ ดังนี้

ได้มอบหมายให้ สพฐ.จัดตั้งสำนักงานอำนวยการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำครูที่เกษียณอายุราชการจากสหรัฐอเมริกาหรือทวีปยุโรป ประมาณ ๕๐๐ คน มาสอนภาษาอังกฤษในวิชาต่างๆ ในโรงเรียนที่มีความพร้อม ๕๐๐ โรงเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๕๔

จัดระบบ EIS : English for Integrate Study ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยบูรณาการจากศักยภาพของกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายระบบ EIS ที่มีอยู่แล้ว โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีเป้าหมายในโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เช่น โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ต้องมีการสอนวิชาอื่นเป็นภาษาอังกฤษอย่างน้อย ๑ วิชา ถ้ายังไม่พร้อมก็อาจจะเปิดสอนเป็น Bilingual หรือ Mini Bilingual และจะขยายผลไปยังโรงเรียนดีประจำตำบล ๗,๐๐๐ โรงเรียนต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นจะจัดให้มีครูจบวิชาเอกภาษาอังกฤษโดยตรง จำนวน ๑ คน มาสอนในโรงเรียนดีประจำตำบล โดย ศธ.จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น

พัฒนาสื่อ สาระวิชา และหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในวิชาอื่น คือ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เพื่อมอบให้กับโรงเรียนจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ โรงเรียน ต้องซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น

พัฒนาห้องเรียนให้สอดรับกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ ๑ ซึ่งจะเป็นห้องเรียนที่ทันสมัย มีกระดาน Interactive Board ที่สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ผลิตขึ้นใหม่ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบ EIS เพื่อให้นักเรียน/ครูสามารถแลกเปลี่ยนและสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้

จัดตั้งศูนย์เครือข่ายอบรมครู โดยได้มอบหมายให้ สพฐ.ร่วมมือกับ ๒๕ มหาวิทยาลัยเครือข่ายในการพัฒนาครูทั้งระบบ จัดตั้งศูนย์เครือข่ายอบรมครูวิชาอื่นเพื่อสอนเป็นภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ เพื่อให้ครูได้มีโอกาสอบรมเพิ่มเติมเป็นภาษาอังกฤษในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะนับเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความดีความชอบหรือวิทยฐานะด้วย และได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาครู และผู้บริหาร จัดหลักสูตรอบรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้บริหารโดยเฉพาะ และให้เป็นแม่ข่ายใหญ่ในการฝึกอบรมผู้บริหารเป็นภาษาอังกฤษ

รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้ายว่า ศธ.ต้องการฝึกเด็กและเยาวชนให้คิดบนพื้นฐานทฤษฎี มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน และมีความสามารถในการนำเสนอเป็นหลักวิชาการ สามารถเขียนความเรียงขั้นสูงได้ สำหรับการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นร้อยละ ๙๐ ของเครื่องมือในการแสวงหาองค์ความรู้จากอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสรู้เท่าทันโลกได้กว้างขวางขึ้น และภาษาอังกฤษยังเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับอีก ๖๐๐ ล้านคนในประชาคมอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ ศธ.ขอประกาศสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้สร้างโรงเรียนพลเรือนและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ ๑ และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือร่วมใจจาก ครู บุคลากร และนักเรียน เพื่อขับเคลื่อนและเดินหน้าสู่ความเป็นมาตรฐานสากล สู่ประชาคมอาเซียนไปพร้อมๆ กัน

ไม่มีความคิดเห็น: