วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มติ ครม. ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓

การถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"
ครม.เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

ศธ.ได้รายงานว่า พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาไทย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาของชาติมีความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายครอบคลุมทั้งในเมืองและในชนบทโดยทั่วถึง ในรัชสมัยของพระองค์การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและการศึกษาไทยที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย โดยพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรสพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคล ทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย ต่อมาเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชนจึงมีมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือทรงอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำมีจำนวน ๑๐๔ โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนประเภทต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา กลุ่มโรงเรียนราชวินิต โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ และอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ส่วนการศึกษานอกระบบโรงเรียน ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้ แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยโครงการพระดาบสได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ เปิดทำการสอนวิชาชีพแขนงต่างๆ เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามแนวพระราชดำริ

นอกจากนี้ ได้ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติอย่างหลากหลาย อาทิ ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น

--------------------------------------------------------------------------------
เห็นชอบยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒– ๒๕๖๑

ครม.เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒– ๒๕๖๑ โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ มีความสอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” และกำหนดเป้าหมายปี ๒๕๓๔ ว่าจะต้องมีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) มีการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ มีการขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนในระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา เป็นร้อยละ ๓๐ ของผู้เรียนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็น ๖๐ : ๔๐ และมีกำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานดังกล่าว จึงได้กำหนด ๙ ยุทธศาสตร์และมาตรการ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : ปฏิรูปการเรียนรู้ด้านการศึกษาเพื่ออาชีพ ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ ประกอบด้วย ๗ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ประกอบด้วย ๙ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาขาดแคลนและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ๘ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : พัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ๑๑ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย ๗ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ : เสริมสร้างความเข้มแข็งของครู คณาจารย์ และผู้บริหาร ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๘ : พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๙ : สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
--------------------------------------------------------------------------------

เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๗๗

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม ๒ ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

- ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ได้รับการเลื่อนเงินเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยกำหนดให้ครอบครัวของข้าราชการครูฯ ผู้ถึงแก่ความตายได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การครองชีพ การศึกษาหรือฝึกอบรม การสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ และสิทธิพิเศษการเข้าทำงานในสถานประกอบการของรัฐตามที่กำหนด และได้กำหนดวิธีการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน การแจ้งสิทธิ การได้รับสวัสดิการ การยื่นขอรับสิทธิ และให้การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

- ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ได้รับเงินเดือน การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ และได้รับการพิจารณาพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยกำหนดให้บรรจุทายาทของครอบครัวของข้าราชการครูฯ ผู้ถึงแก่ความตายเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนตามที่กำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การครองชีพ การศึกษาหรือฝึกอบรม การสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ และสิทธิพิเศษการเข้าทำงานในสถานประกอบการของรัฐตามที่กำหนด นอกจากนี้ได้กำหนดให้มีการจัดงบประมาณเป็นเงินช่วยเหลือแก่ทายาทของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายตามที่ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
--------------------------------------------------------------------------------

อนุมัติกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. ....

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ได้มีการกำหนดนิยามของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งกำหนดผู้มีสิทธิขอรับเงินกองทุน หลักเกณฑ์การยื่นขอรับเงินกองทุน กำหนดขั้นตอนการพิจารณาแผนงานหรือโครงการ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาการกลั่นกรองทางวิชาการ การกลั่นกรองทางวิชาการ การพิจารณาแผนงานหรือโครงการที่เสนอขอรับเงินกองทุน และอำนาจในการอนุมัติเงินกองทุนของคณะกรรมการ รวมทั้งได้กำหนดให้งานจากโครงการที่ได้รับเงินจากกองทุนให้ตกเป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: