วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

๑๙ โครงการ ๑๙ ความสำเร็จด้านการศึกษาในรอบปี

รมว.ศธ.กล่าวว่า ในวันที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๓ ได้มอบนโยบายด้านการศึกษา ๘ ข้อ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มุ่งเน้นเรื่องโอกาส คุณภาพ และการมีส่วนร่วม ซึ่งมีผลงาน/โครงการที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้

๑. โครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ได้ผลักดันงบประมาณปี ๒๕๕๔ เป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการให้นักเรียน ม.๔-๖ และระดับ ปวช. ได้รับหนังสือเรียนฟรี โดยไม่ต้องยืมเรียน ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียน

๒. โครงการดื่มนมและอาหารกลางวันฟรี เพิ่มงบประมาณรายหัวให้เด็กได้ดื่มนมฟรีจาก ๖ บาท เป็น ๗ บาทต่อคนต่อวัน จำนวน ๒๐๐ วัน และปรับปรุงงบประมาณรายหัวโครงการอาหารกลางวัน จากรายหัวละ ๑๑ บาท เป็น ๑๓ บาท ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมด ๙,๒๙๘,๑๕๙,๐๐๐ บาท รวมทั้งได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาสมองเด็กไทยต้องใส่ใจอย่างยั่งยืน”

๓. โครงการเด็กพิการเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี เพิ่มจำนวนนักเรียนพิการระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. จาก ๑๙,๙๑๔ คน เป็น ๒๐,๙๘๑ คน เรียนต่อระดับปริญญาตรีสูงขึ้น เป็น ๔,๕๖๒ คน มีโรงเรียนเรียนร่วม ๑๕,๕๓๐ โรงเรียน

๔. โครงการประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน ได้ประกาศคุณภาพผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ดังนี้

สพฐ. นร.ชั้น ป.๑-๓ อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดพื้นฐาน ทักษะชีวิต และเป็นผู้ใฝ่ดี ป.๔-๖ อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง มีทักษะการคิดพื้นฐาน ทักษะชีวิต สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และใฝ่เรียนรู้ ม.๑-๓ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และอยู่อย่างพอเพียง ม.๔-๖ แสวงหาความรู้ เพื่อแก้ปัญหา ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ใช้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ตามช่วงวัย และมีความมุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน

อาชีวศึกษา มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในอาชีพ มีสมรรถนะที่สามารถปฏิบัติงาน ได้จริงตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมและกิจนิสัยที่เหมาะสมในการทำงาน

อุดมศึกษา บัณฑิตต้องมีคุณลักษณะอย่างน้อย ๕ ด้าน คือ ๑.มีคุณธรรม จริยธรรม ๒.มีความรู้ ความสามารถในการเข้าใจ นึกคิด และนำเสนอข้อมูลและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ๓.มีทักษะทางปัญญา ๔.มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ๕.มีทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

๕. โครงการปรับคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็ก โดยเพิ่มเงินรายหัวให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นคนละ ๕๐๐ บาท/คน/ปี ชั้นมัธยมศึกษาคนละ ๑,๐๐๐ บาท/คน/ปี และปรับปรุงประสิทธิภาพมาตรฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพของชุมชน มีจำนวนนักเรียนไม่ลดลงและชุมชน มีส่วนร่วมให้มีคุณภาพ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๘๘๘,๗๐๐,๐๐๐ บาท

๖. โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล ได้ปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพโรงเรียนในชนบท จัดโครงการนำร่อง ๑๘๒ โรงเรียน ใช้งบประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท และขยายผลเป็นจำนวน ๗,๐๐๐ โรงเรียน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ งบประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาท โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ๗-๗-๗ ในการขับเคลื่อน

๗. โครงการพัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน โรงเรียนไปสู่ระดับมาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน กลุ่มโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติให้มีมาตรฐานไปสู่สากล จำนวน ๑,๐๐๐ โรงเรียน ขับเคลื่อนและดำเนินการโดยการประชุมทางไกล จัดทำสื่อ จัดประชุมสัญจร ๕ ภูมิภาค จัดเครือข่ายการนิเทศการมัธยมศึกษา และจัดตั้งภาคีเครือข่าย รวมทั้งมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘

๘. โครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง ๑๒ แห่งลักษณะโรงเรียนอยู่ประจำ ปรับปรุงค่ารายหัวเป็น ๙๔,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นฐานในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้นแบบและกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งเริ่มรับนักเรียนในปี ๒๕๕๔ ใช้งบประมาณกว่า ๖ ล้านบาท

๙. โครงการพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ ได้เร่งรัดการพัฒนาครูเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน ๕,๘๔๑,๗๗๖,๔๐๐ บาท เพื่อผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๕ปี) พัฒนาระบบสารสนเทศ คืนครูให้กับนักเรียน การพัฒนาครูด้วยระบบ e-Training จัดระบบทะเบียนประวัติ (ก.พ.๗) อิเล็กทรอนิกส์ และอบรมพัฒนาชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาชีวิตด้วยการสร้างวินัยทางการเงิน

๑๐. โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ มีเป้าหมายการรับนักศึกษา จำนวน ๖ รุ่น จำนวน ๓๐,๐๐๐ คน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ โดยรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ๓ ประเภท ได้แก่ รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๖ รับนักศึกษาครู ระดับปริญญาตรีหลักสูตร ๕ ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๔ และรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาอื่นเข้าศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (๑ ปี)

๑๑. โครงการสร้างขวัญกำลังใจครู โดยได้เสนอ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะให้ครูได้ปรับเพดานขั้นเงินเดือนประมาณร้อยละ ๘ แก้กฎ ก.ค.ศ. ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงขึ้นเทียบเท่าวิชาชีพแพทย์และกฎหมาย เสนอเงินวิทยพัฒน์ฯ ปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัดเป็นระดับ ค.ศ. ๔ นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงวิธีการประเมินวิทยฐานะแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นการประเมินผลงานครูและบุคลากรทางการศึกษาเชิงประจักษ์ เน้นการสนับสนุนครูสอนดี

๑๒. ดำเนินการถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา และจัดตั้ง “กองทุนครูของแผ่นดิน” เป็นกองทุนเพื่อพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเป็นเลิศ เป็นครูต้นแบบ ส่งเสริมสนับสนุนครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกย่องเชิดชูเกียรติครู

ไม่มีความคิดเห็น: