วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

๑๙ โครงการ ๑๙ ความสำเร็จด้านการศึกษาในรอบปี (ต่อ)

๑๓. จัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ศธ.ได้เสนอพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๕ ล้านบาท และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มอบเงินสนับสนุนตาม พ.ร.บ.กทช. จำนวน ๑๐๐ ล้านบาท มีการประกาศนโยบาย ๓ N ได้แก่ Nednet (National Education Network) เครือข่ายเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ, NEIS (National Education Information System) ศูนย์สารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และ NLC (National Learning Center) ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ นอกจากนี้ปี ๒๕๕๓ ได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้นักเรียน ๑๐ คนต่อคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง จำนวน ๑๔๐,๐๐๐ ชุด และปี ๒๕๕๔ อีกจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ชุด และจัดงบประมาณสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท

๑๔. โครงการพัฒนา กศน.ตำบล : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ๗,๐๐๐ ตำบล ศธ.ได้ยกฐานะครูศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) และครู กศน.ตำบล เป็นพนักงานราชการ จำนวน ๗,๒๑๖ คน จัดตั้ง กศน.ตำบล และดำเนินการปรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็น กศน.ตำบล จำนวน ๗,๔๐๙ แห่ง

๑๕. ส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยดำเนินการ ๕ แผน คือ ๑. รณรงค์สร้างนิสัยรักการอ่าน ๒. เพิ่มสมรรถนะการอ่าน ๓. สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่าน - สร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๔. เครือข่ายความร่วมมือการอ่าน โดยจัดโครงการอบรมอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ ๕. วิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ

๑๖. โครงการ Student Channel และ Thai Teacher TV เป็นการเสริมสร้างและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ให้นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากครูที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมให้ครูได้เห็นตัวอย่างการสอนและการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้ผลิตรายการ Student Channel ทั้งหมดจำนวน ๑๑๐ รายการ จัดกิจกรรม Student Channel on Tour จำนวน ๒๑ ครั้ง และจัดทำสำเนารายการเป็น DVD จำนวน ๗๒,๘๖๐ แผ่น สำหรับ Thai Teacher TV ได้ดำเนินการออกอากาศ ผ่านช่องทีวีไทย ในชื่อรายการ “ครูมืออาชีพ” ผลิตสื่อและจัดหาสื่อสำหรับเผยแพร่ จำนวน ๑๐๐ รายการ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุงสถานีวิทยุศึกษาและสถานศึกษาวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน ๓๕๗,๕๙๐,๐๐๐ บาท

๑๗. ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนที่ไม่ตรงวุฒิ จำนวน ๕๐๐ คน พัฒนาทักษะการอ่าน เขียน ภาษาไทยให้กับนักเรียนที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง จำนวน ๔,๙๓๒ คน และจัดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กตกหล่น จำนวน ๖,๖๕๗ คน การพัฒนาอิสลามศึกษา ได้ส่งเสริมการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในโรงเรียนของรัฐ จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางอิสลามศึกษา (I-NET) มีการเทียบโอนอิสลามศึกษาทุกระดับ และคัดเลือกปอเนาะดีต้นแบบ ๙ แห่ง การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นในสถาบันศึกษาปอเนาะและสอนวิชาชีพสำหรับเยาวชนและประชาชน จำนวน ๖๔,๒๓๔ คน และปรับระบบบริหารจัดการ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด จำนวน ๕ แห่ง และสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ จำนวน ๓๗ แห่ง และจัดตั้งศูนย์ กศน.ทุกตำบล จำนวน ๔๑๓ แห่ง

๑๘. การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หรือ Quality Learning Foundation (QLF) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ซึ่ง สสค.มีหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยมีจิตสำนึกของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพื่อให้เยาวชนไทยมีคุณภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น

๑๙. การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) จำนวน ๗ ครั้ง และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กนป. จำนวน ๗ คณะ สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) มีการประชุม ๓ ครั้ง และได้เห็นชอบหลักการกรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์ และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๑) และมอบหมายให้ สกศ.จัดทำแผนปฏิบัติการ (Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๔-๒๔๔๗)

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบาย ๘ ข้อ และนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ๖ เดือน ๖ คุณภาพ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนอัตรากำลังคนภาครัฐ การรับนักเรียน นักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาสมองเด็กไทยและความเป็นเลิศในด้านต่างๆ การดูแลเด็กด้อยโอกาสให้มีโอกาสเข้าเรียนอย่างทั่วถึง ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: