วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๔ มกราคม ๒๕๕๔

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาการจัดสรรงบประมาณสำหรับจ่ายเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้แก่ครูโรงเรียนเอกชน โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป ดังนี้

๑) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๒๖๗,๓๕๙,๖๐๘ บาท สำหรับจ่ายให้ครูโรงเรียนเอกชน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๓

๒) อนุมัติในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการ เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน ๖๔๑,๖๖๓,๐๕๘ บาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบจำนวนครูที่มีสิทธิให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันก่อนและขอรับการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับโรงเรียนที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีรายชื่อครูผู้มีสิทธิแล้ว โดยให้ขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณเป็นรายไตรมาสต่อไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ ศธ. ได้รายงานว่าจากการที่ ศธ.ได้จัดประชุมพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้แทนสำนักงบประมาณ (สงป.) และผู้แทนกระทรวงการคลัง (กค.) มาแล้ว ๓ ครั้ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวครูโรงเรียนเอกชน โดยเห็นชอบให้รัฐจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครูโรงเรียนเอกชนจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวที่คำนวณได้จากหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของ กค. ที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ และเห็นชอบให้การจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวไม่รวมถึงครูในโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุนรายบุคคล

ทั้งนี้ ศธ.ได้ตรวจสอบและจัดทำข้อมูลครูที่มีสิทธิรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเป็นรายบุคคลที่เป็นปัจจุบัน (ข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓) จำนวน ๗๔,๔๓๔ คน ต้องใช้งบประมาณสำหรับจัดสรรให้ครูเดือนละ ๕๓,๔๗๑,๙๒๑ บาท ระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กันยายน ๒๕๕๓ รวม ๕ เดือน เป็นเงิน ๒๖๗,๓๕๙,๖๐๘ บาท และระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๓ – กันยายน ๒๕๕๔ รวม ๑๒ เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น ๖๔๑,๖๖๓,๐๕๘ บาท

มาตรการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ. มีนโยบายในการเข้าไปดูแลเด็กที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และการดูแลเด็กด้อยโอกาส รวมถึงการดูแลครูที่สอนดี ซึ่ง ศธ.ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง กรณีเด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม

รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินการขององค์กรหลักในปี ๒๕๕๔ โดยให้ถือเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ๓ ด้าน ดังนี้

๑. ยุทธศาสตร์สร้างมาตรการเพื่อดำเนินการให้เด็กในวัยศึกษาเล่าเรียนไม่มีเพศสัมพันธ์ (No Sex) ทั้งนี้ ศธ. จะปรับปรุงหลักสูตร ปรับปรุงกระบวนการสอน มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เท่าทันต่อพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับครอบครัวศึกษา พฤติกรรมวัยรุ่น การพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังไม่ให้เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ไม่สมควร การทำให้เด็กสามารถป้องกันตนเองได้ ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า กระแสที่จะสร้างความสัมพันธ์เกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ ซึ่ง ศธ. เพียงกระทรวงเดียวไม่สามารถป้องกันให้เกิดเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจะต้องใช้มาตรการหลัก คือ ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยอันควรและการรู้จักป้องกันตนเอง

๒. ยุทธศาสตร์ในการรักษาและดูแลตนเองเมื่อมีความจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ (Safety Sex) เด็กและเยาวชนต้องมีกระบวนการเรียนรู้ ควรทำอย่างไรไม่ให้ตั้งครรภ์ในขณะที่ยังไม่พร้อม และถ้ามีความจำเป็นที่จะมีครรภ์ในขณะที่อยู่ในวัยเรียน ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกฎหมายคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่ง ศธ. จะดำเนินการจัดอบรมครูแนะแนวที่จะเข้าไปดูแลปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และดำเนินการใช้กิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน เช่น โครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน การที่จะทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์แล้วมีความปลอดภัย เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคส่วนอื่นต้องเข้ามาให้ความร่วมมือด้วย ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานภาคเอกชน หรือองค์กรต่างๆ ฯลฯ

๓. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน ขณะนี้มีการจัดตั้งภาคีเครือข่ายเป็นอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน จำนวน ๑,๕๐๐ คน มีการจัดตั้งศูนย์เสมารักษ์เครือข่าย ๔ มุมเมือง และ ๑๒ ภูมิภาค นอกจากนี้มีการดำเนินการส่งเสริมความประพฤตินักเรียน ๔ ด้าน ได้แก่ ๑. ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน ๒. ปัญหาพฤติกรรมความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ๓. ปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมการหนีเรียน และ ๔. ปัญหานักเรียนที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มาตรการที่ ๓ นี้ จะเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป

รมว.ศธ. กล่าวเน้นถึง การแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมและการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ภูมิปัญญา การมีวินัยในตนเอง รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่ง ศธ. จะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้ปกครอง สื่อมวลชน ครอบครัว และภาคสังคมอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม และคาดหวังว่า ๓ ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ปัญหาลดลงในปีการศึกษา ๒๕๕๔ และขอให้มีการทำวิจัยในเชิงลึก เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ป้องกัน ควบคุมและส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมของวัยรุ่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: