วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔

รมว.ศธ. เปิดเผยว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง ดังนี้

๑) แนวปฏิบัติการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบ สำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้โรงเรียนในระบบกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยให้ถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการกำหนดค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๓ ได้แก่

การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้โรงเรียนกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาในชั้นเรียนที่รับเงินอุดหนุนรายบุคคล ซึ่งเมื่อรวมกับเงินอุดหนุนรายบุคคลแล้วไม่เกินอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลนักเรียนภาครัฐในแต่ละระดับ สำหรับชั้นเรียนที่นักเรียนไม่รับเงินอุดหนุนรายบุคคล ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

การกำหนดค่าธรรมเนียมอื่นให้โรงเรียนกำหนดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยไม่ต้องมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร จำแนกเป็นรายการให้ชัดเจนและเก็บได้เฉพาะนักเรียนที่รับบริการ ทั้งนี้ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นโดยมีอัตราของผลตอบแทนไม่เกินร้อยละ ๒๐ ต่อปี
๒) มาตรการในการตรวจติดตามประเมินผลโรงเรียนกวดวิชา มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ ขอให้มีการทบทวนเรื่องการจัดเก็บภาษีจากโรงเรียนสอนกวดวิชา เนื่องจากเป็นโรงเรียนนอกระบบประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน จึงได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษี และถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระด้านการจัดการศึกษาจากรัฐบาล ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปัญหาโดยการพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตั้งแต่ในชั้นเรียน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมอาคาร สถานที่ และระบบป้องกันอัคคีภัยของโรงเรียนสอนกวดวิชา

สช.ได้มีมาตรการในการตรวจติดตามประเมินผลโรงเรียนกวดวิชา ดังนี้

1.ให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา พ.ศ. ๒๕๔๕ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังนี้ - จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูเป็นผู้สอน ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตร ต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๔๕ คน - จัดการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตร ต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๙๐ คน - จัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตร ต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๙๐ คน และมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทางการศึกษาหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งมีทักษะในการใช้สื่อ

2. ให้มีมาตรการในการป้องกันอัคคีภัย เช่น จัดให้มีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัย บันไดหนีไฟ ระบบไฟสำรอง และเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ เป็นต้น

3. ตรวจติดตามการดำเนินกิจการของโรงเรียนสอนกวดวิชาให้เป็นไปตามแนวทางพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนตามที่ได้รับอนุญาตจาก สช. สำหรับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูผู้สอน ให้เก็บได้ในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนโดยใช้สื่อผสมครู ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า กรณีโรงเรียนกวดวิชานั้นได้มอบหมายให้มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลและส่งเสริมการศึกษานอกระบบในภาพรวมทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดค่านิยมในการเข้าเรียนในโรงเรียนดัง แต่ต้องนำไปสู่การกวดวิชาในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: