วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔

ครม.มีมติในการพิจารณาการขอคืนอัตราข้าราชการครูจากผลการเกษียณอายุราชการ ดังนี้

ให้ ศธ.ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ (เรื่อง รายงานผลการศึกษาเรื่องสภาวะการขาดแคลนครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และข้อเสนอแนวทางแก้ไข) โดยให้ ศธ.จัดทำรายละเอียดการขอคืนอัตรากำลังให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐรับไปประกอบการพิจารณาตามเหตุผลความจำเป็น โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปดำเนินการด้วย
ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเร่งรัดดำเนินการจัดสรรอัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากผลการเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ให้ ศธ.ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐจัดทำแผนการคืนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากผลการเกษียณอายุราชการในแต่ละปีของปี ๒๕๕๔–๒๕๕๖ เพื่อให้การบริหารจัดการกำลังคนให้สมดุลสอดคล้องกับภารกิจด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติ ครม. เรื่อง ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๗

ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติ ครม. เรื่อง โครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ครั้งที่ ๗ (พฤษภาคม–พฤศจิกายน ๒๕๕๓) และให้ ศธ.รายงานผลการดำเนินการโครงการนี้ต่อ ครม.ทุกสิ้นปีงบประมาณจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ

สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีที่ผ่านมา โดยได้โอนเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุน แยกเป็นทุนในประเทศ ได้ประสานสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสถาบันฝ่ายผลิตให้จัดส่งรายละเอียด พร้อมหลักฐานของนักเรียนทุนทุกระดับ ส่วนทุนในต่างประเทศ ได้ประสานสำนักงาน ก.พ. และโอนเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนเพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับนักเรียนทุนโครงการฯ ที่พร้อมจะเดินทางไปศึกษาได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ๒๕๕๓ จำนวน ๓๗ คน แยกเป็นระดับปริญญาตรี ๔ คน และปริญญาโท-เอก ๓๓ คน จากนักเรียนทุนทั้งสิ้น ๖๑ คน

ทั้งนี้ ได้พิจารณาจัดสรรทุนที่เหลือจากปีงบประมาณ ๒๕๕๓ และทุนตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี ๒๕๕๔ โดยรวบรวมทุนที่จัดสรรแล้วแต่ไม่มีผู้สอบผ่านเป็นผู้รับทุน พร้อมพิจารณาผลการจัดสอบ ปัญหา/อุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อปรับแก้ไขปัญหาในการประกาศสอบครั้งต่อไป รวมทั้งพิจารณาแนวทางการจัดสรรทุนเป็น ๓ แนวทาง คือ ๑) เปิดสอบแข่งขันสำหรับบุคคลทั่วไป ๒) พัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ๓) แสวงหานักเรียนทุนจากผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในการจัดลำดับที่ดี และไม่มีภาระทุนผูกพัน โดยการหาทางจูงใจให้เข้ามาสู่ระบบ

หลังจากนั้น สกอ.ได้แจ้งสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการจัดสรรทุนเพื่อยืนยัน/สละสิทธิ์การรับจัดสรรทุนที่ไม่มีผู้สอบผ่าน เพื่อนำมาประกาศรับสมัครใหม่ ซึ่งในกรณีที่สถาบันต้นสังกัดขอยกเลิกการขอรับการจัดสรรทุน จะนำทุนมาจัดสรรรวมกับทุนในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ รวมทั้งแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งที่เปิดสอนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และประสงค์เข้าร่วมโครงการให้จัดทำแผนพัฒนางานวิชาการ เพื่อใช้พิจารณาประกอบการจัดสรรทุน

การนำทุนที่เหลือจากการสอบแข่งขันฯ และงบประมาณของปี ๒๕๕๓ มารวมกับปี ๒๕๕๔ เพื่อพิจารณาจัดสรรทุนและประกาศสอบแข่งขันเพื่อรับทุนโครงการฯ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท-เอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทุนระดับปริญญาตรี-โท ในต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจึงจะดำเนินการพิจารณาทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาโท-เอก จำนวน ๕๐ ทุน

สำหรับการพิจารณาจัดสรรทุนในปีการศึกษา ๒๕๕๓-๒๕๕๔ เพื่อให้ได้สาขาวิชาที่มีความจำเป็น หรือขาดแคลน หรือเป็นสาขาวิชาที่ตอบสนองการพัฒนาศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา รวม ๑๙๖ ทุน และจัดสอบแข่งขันเข้ารับทุนโครงการฯ โดยความร่วมมือของสำนักงานบริหารโครงการฯ เป็นหน่วยดำเนินการจัดสอบแข่งขันรับทุนโครงการฯ ในช่วงระหว่างวันที่ ๒๓ สิงหาคม – ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณรวมเป็นเงิน ๑๖๙ ล้านบาm

ส่วนปัญหาที่พบในการดำเนินการ คือ สาขาวิชาของโครงการฯ มีความหลากหลายมาก ทำให้การพิจารณาจัดสรรทุนต้องใช้ระยะเวลาและการจัดหาข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา นอกจากนี้การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนโครงการฯ มีความแตกต่างกันตามสาขาวิชาที่หลากหลาย การกำหนดให้ผู้รับทุนในระดับปริญญาตรีต้องผูกพันชดใช้ทุนในสถาบันอุดมศึกษาทำได้ยาก เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี อัตรากำลังรองรับที่จะบรรจุเข้าทำงานจึงต้องเป็นระดับปริญญาเอก และอาจมีบางสาขาที่จำเป็นต้องรับในระดับปริญญาโท

ในขณะเดียวกันระยะเวลาการศึกษาของผู้รับทุนในบางสาขาวิชาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในโครงการฯ (ปริญญาตรี ๔ ปี ปริญญาโท ๒ ปีปริญญาเอก ๓ ปี และปริญญาโท-เอก ๕ ปี) ได้ เช่น สาขาโบราณคดี หลักสูตรระดับปริญญาโท ในประเทศ ใช้เวลาประมาณ ๓-๔ ปี รวมทั้งงบประมาณที่จัดสรรสำหรับทุนการศึกษาในต่างประเทศ จากการประสานกับสำนักงาน ก.พ. พบว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในโครงการฯ ซึ่งจำเป็นต้องจัดให้เนื่องจากเป็นการเตรียมก่อนเข้าศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายด้านภาษา และค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวก่อนการเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งโครงการได้มีแนวทางแก้ปัญหาด้านต่างๆ ดังกล่าวไว้แล้ว เพื่อให้ทุนเรียนดีสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปีต่อๆ ไปเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: