วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

นโยบายและแนวทางการทำงานของ ผอ.สพป./ผอ.สพม.(ต่อ)

๑๓. โครงการ "จัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษา" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย ศธ.ได้เสนอพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๕ ล้านบาท และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มอบเงินสนับสนุนตาม พ.ร.บ.กทช. อีกจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท พร้อมกับประกาศนโยบาย 3N ได้แก่ Nednet (National Education Network) หรือเครือข่ายเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ, NEIS (National Education Information System) หรือศูนย์สารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และ NLC (National Learning Center) หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ นอกจากนี้ในปี ๒๕๕๓ ได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเพื่อเพิ่มสัดส่วนเป็นนักเรียน ๑๐ คนต่อคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง จำนวน ๑๔๐,๐๐๐ ชุด และปี ๒๕๕๔ อีกจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ชุด และจัดงบประมาณสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท

๑๔. โครงการ "พัฒนา กศน.ตำบล : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ๗,๐๐๐ ตำบล" ศธ.ได้ยกฐานะครูศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) และครู กศน.ตำบล เป็นพนักงานราชการ จำนวน ๗,๒๑๖ คน มีการจัดตั้ง กศน.ตำบล ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูก และดำเนินการปรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็น กศน.ตำบล จำนวน ๗,๔๐๙ แห่ง

๑๕. โครงการ "ส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" โดยดำเนินการใน ๕ แผน คือ ๑) รณรงค์การสร้างนิสัยรักการอ่าน ๒) การเพิ่มสมรรถนะการอ่าน ๓) การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านและสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๔) สร้างเครือข่ายความร่วมมือการอ่าน โดยจัดโครงการอบรมอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ๕) การวิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

๑๖. โครงการ "Student Channel และ Thai Teacher TV" เพื่อเป็นการเสริมสร้างและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากครูที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมให้ครูได้เห็นตัวอย่างการสอนและการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้มีการผลิตรายการ Student Channel ทั้งหมดจำนวน ๑๑๐ รายการ จัดกิจกรรม Student Channel on Tour จำนวน ๒๑ ครั้ง และจัดทำสำเนารายการเป็น DVD จำนวน ๗๒,๘๖๐ แผ่น ส่วน Thai Teacher TV ได้ดำเนินการออกอากาศผ่านช่องทีวีไทยในชื่อรายการ "ครูมืออาชีพ" รวมทั้งเปิดให้รับชมผ่านดาวเทียม มีการผลิตสื่อและจัดหาสื่อสำหรับเผยแพร่ จำนวน ๑๐๐ รายการ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุงสถานีวิทยุศึกษา และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน ๓๕๗,๕๙๐,๐๐๐ บาท

๑๗. "ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ได้แก่ ยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนที่ไม่ตรงวุฒิ จำนวน ๕๐๐ คน พัฒนาทักษะการอ่าน เขียน ภาษาไทยให้กับนักเรียนที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง จำนวน ๔,๙๓๒ คน และจัดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กตกหล่น จำนวน ๖,๖๕๗ คน การพัฒนาอิสลามศึกษา ได้ส่งเสริมการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในโรงเรียนของรัฐ จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางอิสลามศึกษา (I-NET) มีการเทียบโอนอิสลามศึกษาทุกระดับ และคัดเลือกสถาบันศึกษาปอเนาะดีต้นแบบ ๙ แห่ง การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นในสถาบันศึกษาปอเนาะและสอนวิชาชีพสำหรับเยาวชนและประชาชน จำนวน ๖๔,๒๓๔ คน และปรับระบบบริหารจัดการ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด จำนวน ๕ แห่ง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนอำเภอ จำนวน ๓๗ แห่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ กศน.ทุกตำบล จำนวน ๔๑๓ แห่ง

๑๘. โครงการ "จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หรือ Quality Learning Foundation (QLF)" ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ซึ่ง สสค.มีหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยมีจิตสำนึกของการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเพื่อให้เยาวชนไทยมีคุณภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น

๑๙. "การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)" ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) จำนวน ๗ ครั้ง และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กนป. จำนวน ๗ คณะ สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) มีการประชุม ๓ ครั้ง และได้เห็นชอบหลักการกรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์ และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๑) และมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำเรื่อง "จุดเน้นนโยบายในปี ๒๕๕๔" ที่ต้องการให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องต่อไป เพราะหาก ศธ.กำหนดยุทธศาสตร์แล้ว แต่กลไกการทำงานไม่ชัดเจน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงหวังว่าปี ๒๕๕๔ จะเป็นปีคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู และคุณภาพนักเรียน ซึ่ง ผอ.เขตพื้นที่ฯ จะต้องแปรนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไปสู่ยุทธวิธีในการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวแสดงความหวังว่า นโยบายที่สำคัญจะต้องมุ่งเน้น คือ นโยบายคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนดีประจำตำบล รวมทั้งนโยบายการพัฒนาคุณภาพครู ซึ่งจะเห็นผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ทั้งยังได้ขอความร่วมมือเรื่องการเทิดพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๔ ที่เราจะร่วมเฉลิมฉลองพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" รวมทั้งเชิญชวนจัดตั้ง "กองทุนครูของแผ่นดิน" ด้วย

ในส่วนของนโยบายการรับนักเรียนนั้น จะมีการเปิดศูนย์รับนักเรียนโดยตรง ในวันที่ ๑๑ มกราคมนี้ และจะมีการตั้งคณะกรรมการรับนักเรียนปี ๒๕๕๔ รวมทั้งการจัดทำแผนรองรับในการรับนักเรียนให้ครอบคลุมอย่างรอบด้านในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการในการติดตามตรวจสอบการรับนักเรียน มีองค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรการตรวจสอบเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย นอกจากนี้จะมีการประชุม ผอ.โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ๓๖๙ โรง ในวันที่ ๑๒ มกราคมนี้ด้วย เพื่อทำความเข้าใจในประกาศแผนการรับนักเรียนของ สพฐ. ซึ่งจะต้องตั้งโจทย์ให้ครอบคลุมทั้งหมด หวังว่าประกาศรับนักเรียนในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างธรรมาภิบาล ความโปร่งใสให้เกิดขึ้น และจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งตอบโจทย์สุดท้ายคือ คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น คุณภาพโรงเรียนที่ใกล้เคียงกันด้วย

ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงบางรายที่ได้ไปวิพากษ์นโยบายดังกล่าวว่าไม่สามารถดำเนินการได้นั้น รมว.ศธ.กล่าวในที่ประชุมว่า ทราบดีและหวังว่าผู้บริหารรายนั้นจะดำเนินการรับนักเรียนด้วยความโปร่งใส เพราะหากมีปัญหาร้องเรียนหรือปรากฏว่าเรียกรับเงินในการรับนักเรียน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย และหากว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากกว่า ๒ เขตพื้นที่การศึกษา อาจจะต้องมีการพิจารณาโยกย้ายเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จึงหวังว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องร่วมกันดำเนินการการรับนักเรียนอย่างจริงจัง ให้เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล และโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่นักเรียนโดยรวมของประเทศจำนวนกว่า ๑ ล้านคน ไม่ใช่ของหัวคะแนนหรือเพื่อลูกหลานใคร ดังนั้นบุคคลที่สนับสนุนตนทางการเมือง หรือบุคคลใกล้ชิด จะต้องยอมรับในนโยบายนี้เช่นกันด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: