วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการการปรับรูปแบบโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๕–๒๕๖๐) เพื่อผลิตครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้ง ๒ ประเภท เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

- อนุมัติการปรับรูปแบบการดำเนินงานและจำนวนทุนการผลิตครู สควค. เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ทุนประเภทที่ ๑ Premium จำนวนปีละ ๔๐๐ ทุน และทุนประเภทที่ ๒ Super Premium จำนวนปีละ ๑๘๐ ทุน

- อนุมัติประมาณการค่าใช้จ่าย ตามนัยการปรับรูปแบบโครงการ สควค. ระยะที่ ๓ สำหรับการดำเนินงานปี ๒๕๕๕–๒๕๖๐ ให้ ศธ.ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สำหรับการจัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างจากการเกษียณอายุของข้าราชการครูในแต่ละปี สำหรับบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากทุน สควค. ทุกคน ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคน ภาครัฐ (คปร.) และ ศธ.ดำเนินการในเรื่องนี้ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ เรื่อง การขอคืนอัตราว่างข้าราชกาครูจากผลการเกษียณอายุราชการ
สาระสำคัญของเรื่อง เนื่องจากผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา ๒๕๕๐ พบว่ามีปัญหาขาดแคลนครูในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน ๑๐,๘๓๑ อัตรา และขาดแคลนครูในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน ๑๑,๙๒๒ อัตรา ประกอบกับหลังจากดำเนินโครงการ สควค. ระยะที่ ๓ ได้ ๑ ปี คณะกรรมการคุรุสภาในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ได้มีมติยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ขณะนี้คุรุสภากำลังดำเนินการกำหนดเกณฑ์ที่จะให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการศึกษาหรือบัณฑิตศึกษา (ใช้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี มีวุฒิเทียบเท่าปริญญาโท ทำนองเดียวกับเนติบัณฑิต) ตามหลักสูตรที่ครอบคลุมเกณฑ์กำหนดของคุรุสภา ทำให้การดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ ๓ มีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบของโครงการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์และเงื่อนไขของการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เป็นต้นไป

สำหรับการปรับรูปแบบและจำนวนทุนการผลิตครู สควค. โดยปรับรูปแบบการผลิตครูจากเดิม เป็น การให้ทุนการศึกษาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) เพื่อศึกษาต่อหลักสูตรระดับปริญญาโททางการศึกษาตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และจะได้ใบประกอบวิชาชีพครูตามเกณฑ์ของคุรุสภาโดยอัตโนมัติ จำนวน ๒ หลักสูตร โดยมีทุนการศึกษาจำนวนเท่าเดิม ปีละ ๕๘๐ ทุน และแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

ทุนประเภทที่ ๑ Premium จำนวนปีละ ๔๐๐ ทุน เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโททางการศึกษาหรือหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ที่มุ่งเน้นการสร้างครูเพื่อสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. เป็นลำดับแรก

ทุนประเภทที่ ๒ Super Premium จำนวนปีละ ๑๘๐ ทุน เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโททางการศึกษาหรือหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ที่มุ่งเน้นการสร้างครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน ผู้รับทุนกลุ่มนี้จะได้รับการบรรจุให้สอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน หรือในโรงเรียนของ สพฐ. ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน (English Program : EP) เป็นลำดับแรก

ส่วนประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น ๔,๓๘๘ ล้านบาท ทั้งนี้ผลที่จะได้รับคาดว่าจะทำให้ผู้มีศักยภาพสูงเยี่ยมสนใจสมัครเข้ารับทุนโครงการ สควค. เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ที่ดีและเก่ง มีศักยภาพสูง สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงเยี่ยม ทำให้คุณภาพการศึกษาในภาพรวม (เมื่อเทียบกับนานาชาติ) ของเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ในระดับที่ดีและสูงขึ้น นอกจากนี้จะมีครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชนไทยในโรงเรียนมาตรฐานสากลของ สพฐ. ซึ่งจะตอบสนองและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่พยายามผลักดันให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเสมือนเป็นภาษาของตนเอง ทั้งยังจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครูสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนของ สพฐ. ที่จัดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน (English Program : EP) ด้วย

ปรับองค์ประกอบ คกก.กำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ครม.เห็นชอบการปรับองค์ประกอบคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการ ๑๑ คน ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๘ คน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและเลขานุการ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมกรรมการจำนวน ๒๔ คน

ไม่มีความคิดเห็น: