วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา




รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน ๓๖ คน เพื่อพิจารณาวางกรอบการเลือกตำแหน่งต่างๆ ตลอดถึงนัดหมายการประชุมร่วมกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีมาตราที่มีความสำคัญ ๓ มาตรา ได้แก่

มาตรา ๓ อัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตามความจำเป็นก็ได้ โดยหากเป็นการปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งเพิ่มไม่เกินร้อยละสิบของเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งที่ใช้บังคับอยู่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ถือว่าเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชบัญญัตินี้ เมื่อมีการปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง การปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับอยู่เดิมเข้าสู่อัตราในบัญชีที่ได้รับการปรับใหม่ ให้เป็นไปหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๖

มาตรา ๖ ในระหว่างที่ ก.ค.ศ.ยังมิได้ปรับอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดย รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ ก.ค.ศ.จัดทำคู่มือรายละเอียดของการดำเนินการตามบัญชีที่ได้ศึกษาไว้แล้ว ซึ่งจะได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไป

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะฯ ต้องเป็นไปตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการแล้ว อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ให้แปรญัตติภายใน ๓ วัน คาดว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน ๒ สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเสนอเข้ามาสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนกุมภาพันธ์และจะสามารถเสนอเข้าสู่ชั้นวุฒิสภา ในเดือนมีนาคม เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วก็จะได้มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: