วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การพัฒนาคุณภาพครู

รมว.ศธ.กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานให้ทราบถึงโครงการพัฒนาคุณภาพครู ดังนี้

ความก้าวหน้ากองทุนครูของแผ่นดิน มีการบริจาคทุนประเดิมเพื่อจัดตั้งกองทุนในรายการพิเศษทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี เป็นจำนวนเงิน ๑๑๖,๑๕๗,๙๒๕.๒๔ บาท และหลังจากวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา มีการบริจาคเพิ่มเติมผ่านทาง ศธ. และทางธนาคารทั้ง ๔ แห่ง อีก ๔ ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒๐ ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบการนำใบเสร็จบริจาคเงินกองทุนครูไปลดหย่อนภาษี และคณะกรรมการร่างกฤษฎีกาได้อนุมัติร่างหลักการออกกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้มีการประชุมเพื่อตรวจร่างกฤษฎีกาในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ หลังจากนั้นจะสามารถให้ผู้บริจาคเงินนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้

และขณะนี้ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สกศ.ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนครูของแผ่นดิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๕๑ และให้จัดทำหนังสือขอบคุณผู้ร่วมบริจาคทุกคน รวมทั้งจัดทำสปอตโฆษณาขอบคุณและเชิญชวนให้ร่วมบริจาคเพิ่มเติมต่อไป
การถวายราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ได้มอบหมายให้องค์กรหลัก หน่วยงานในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาทุกแห่ง ติดป้ายประชาสัมพันธ์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยเฉพาะที่ ศธ.ให้ติดป้ายขนาดใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจน รอบ ศธ.ทั้ง ๔ ทิศ

ข้อเสนอคุรุสภา จากการประชุมสมัชชาศูนย์เครือข่ายของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

มิติการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ได้แก่ ความมั่นคงในวิชาชีพ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การบริหารงานบุคคลต้องเพียงพอและเป็นธรรม องค์กรวิชาชีพทางการศึกษาที่มีอิสระ และกำหนดให้วันครูเป็นวันสำคัญของชาติ (๑๖ มกราคม)

มิติการพัฒนาการศึกษาชาติ ได้แก่ การจัดการศึกษาภาคบังคับเป็นหัวใจการศึกษาชาติ การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกด้าน ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข การปรับกระบวนการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาและกวดขันโรงเรียนกวดวิชา ปรับโครงสร้างการบริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุนการจัดการศึกษา

สำหรับในเรื่องนี้ รมว.ศธ.ได้ฝากให้คุรุสภาขับเคลื่อนการเป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นองค์กรวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับ สำหรับเรื่องของครูนั้น ให้มีการปรับปรุงจรรยาบรรณและจิตวิญญาณครูด้วย

การพัฒนาคุณภาพครูด้วยระบบ e-Training ของ สพฐ.ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และระบบบริหารจัดการฝึกอบรม ในปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีเป้าหมายที่ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ๒๕๕๓ พบว่ามีผู้สมัครเข้าระบบและฝึกอบรม จำนวน ๓๒๘,๕๒๔ คน มีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน ๒๗๙,๖๐๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕ และมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน ๔๘,๙๒๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๕ ซึ่งทำให้ผู้เข้าอบรมมีผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน มีทักษะและความรู้พื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ สามารถใช้ ICT เป็นแหล่งค้นคว้าได้ และผู้เข้าอบรมมีโอกาสพัฒนาอย่างเท่าเทียม ไม่กระทบเวลาการจัดการเรียนการสอน และทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย

ไม่มีความคิดเห็น: