วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔

การคงสิทธิประโยชน์ให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งแตกต่างจากโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนด

มติ ครม.เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ได้เห็นชอบให้ปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยเห็นชอบการคงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งแตกต่างจากโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนด จนกว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้า้งตำแหน่งที่ ก.พ.อ. กำหนด เช่น เดิมตำแหน่งอาจารย์ ๓ ระดับ ๙ ตาม พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.๒๕๓๘ ไม่ไ่ด้กำหนดให้มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งอาจเป็นปัญหาการเบิกจ่ายเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งตามสิทธิประโยชน์เดิม

ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบเพื่อให้เป็นกฎหมายรองรับคงสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการในกลุ่มนี้ คือ ข้าราชการตำแหน่งอาจารย์ ๓ รวม ๓๔ ราย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู รับเงินเดือน คศ. รวม ๑๓๑ ราย และข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ รวม ๑๕ ราย

การเทียบตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามระบบจำแนกประเภทตำแหน่งในการรับสิทธิประโยชน์

จากมติ ครม.ดังกล่าวได้มีการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จากเดิมที่ใช้ระบบจำแนกตำแหน่งที่มีมาตรฐานกลาง ๑๑ ระดับ เป็นการจำแนกตำแหน่งตามกลุ่มลักษณะงาน ทำให้บางประเภทตำแหน่งยังไม่สอดคล้องกับประเภทตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเห็นชอบโดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้เทียบเคียงตำแหน่ง โดยมีหลักการ ๒ ข้อคือ ๑) ให้ยึดถือตาม ก.พ.เป็นหลัก และ ๒) ไม่กระทบสิทธิและประโยชน์เดิมของข้าราชการ ก.พ.อ. ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ ในเรื่องของการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และการแต่งเครื่องแบบราชการ

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เข้าสู่เงินเดือนท้ายกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนเงินเดือน เพิ่มเติม

การจัดข้าราชการเข้าสู่ตำแหน่งตามระบบบริหารงานบุคคลใหม่โดยใช้เงินเดือนเดิมของข้าราชการ ปรากฏว่ามีข้าราชการที่ยังคงรับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำชั่วคราว ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการพลเรือนที่ไม่มีกรณีดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน และหลักการระบบริหารงานบุคคล ซึ่งจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการได้รับสิทธิประโยชน์เดิม

จัดสรรงบประมาณเพิ่มร้อยละ ๕ เพื่อปรับอัตราค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย

มติ ครม.เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ ให้สำนักงาน ก.พ.จัดทำคำขอตั้งงบประมาณปี ๒๕๕๔ งบกลาง เพื่อปรับบัญชีเงินเดือนค่าจ้างและค่าตอบแทนรายเดือนของบุคลากรภาครัฐเพิ่มในอัตราร้อยละ ๕ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดและรักษาคนเก่ง คนดีไว้ในราชการ รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของข้าราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นสมควรปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย แม้พนักงานมหาวิทยาลัยจะมีอัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการก็ตาม แต่อัตราเงินเดือนดังกล่าวได้รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ไว้ด้วยแล้ว

ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบ ให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ ๕ โดยใช้หลักการเดียวกับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ สำหรับใช้จ่ายในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ ๒๕๕๔ เป็นจำนวนเงิน ๓๙๗ ล้านบาท แยกเป็น ๑) กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ๑๔ แห่ง เป็นจำนวนเงิน ๒๔๐ ล้านบาท ๒) กลุ่มมหาวิทยาลัย ๑๕ แห่ง เป็นจำนวนเงิน ๑๐๒ ล้านบาท ๓) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ/เทคโนโลยีราชมงคล/สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ๕๐ แห่ง เป็นจำนวนเงิน ๕๕ ล้านบาท

ส่วนตำแหน่งลูกจ้าง มอบให้สภามหาวิทยาลัยไปดูแล เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกัน

อนุมัติกำหนดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับ ๑๐

ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติกำหนดกรอบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับ ๑๐ ในโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งเห็นชอบให้ น.ส.สุภาพ วัณณะพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑

ตั้งศาสตราจารย์ ๘ ราย และศาสตราจารย์ รับเงินเดือน ท.๑๑

ที่ประชุมเห็นชอบ เพื่อเสนอรัฐมนตรีนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ จำนวน ๘ ราย ดังนี้

รศ.ชุษณา สวนกระต่าย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ไพศาล กิตติศุภกร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ทัศนีย์ ยงชัยตระกูล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ประสิทธิ์ ภวสันต์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ศักดา ธนิตกุล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.อนันต์ชัย เลาหะพันธุ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รศ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ ศ.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ในสาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเงินเดือนในอันดับ ท.๑๑

ไม่มีความคิดเห็น: