วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือแนวความคิดของ กนป.ที่ได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องมาแล้ว ๗ ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา และได้มีการประเมินผล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้เสนอรายงานของแม็คเคนซี่ ผลการวิจัยการศึกษาในระดับนานาชาติมาเทียบเคียงกับประเทศไทย โดยเห็นว่าไปในทิศทางเดียวกันที่ทั่วโลกต้องการมุ่งเน้นให้ผลผลิตที่จบออกไปจากระบบการศึกษาสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรที่เป็นทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน

ซึ่งประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องวิสัยทัศน์ คือ "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" และกำหนดพันธกิจ คือ "มาตรฐานการศึกษา การเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม" ภายใต้เป้าหมาย ๔ ประการ คือ กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ครูยุคใหม่หรือครูพันธุ์ใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ โดยมีกลไกในการขับเคลื่อน คือ มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สถาบันคุรุศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และการพัฒนากฎหมาย เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจในการยกเว้นภาษี เช่น ภาษีให้กับการศึกษา ภาษีส่งเสริมการอ่าน สนับสนุนให้ภาคเอกชน ชุมชน ทำโครงการการศึกษาขึ้นมา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) นโยบายหลักเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๖๑) เพื่อมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งประกอบด้วยประเด็นหลัก ๔ ประการ คือ

กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ประกอบด้วย ๑๒ นโยบายหลัก อาทิ การพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการเรียนรู้ที่บูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning) ฯลฯ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กนป.ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดต้องทำเป็นกรอบเพื่อให้เห็นภาพรวมต้องดำเนินการต่อไป โดยขอให้เน้นในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ที่สำคัญคือเน้นเรื่องการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเวลา ๗๐:๓๐ ซึ่งสอดคล้องกับ ศธ.ที่ได้ประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน และพร้อมจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

ครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลน ประกอบด้วย ๑๓ นโยบายหลัก อาทิ การพัฒนาทักษะครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยให้ครอบคลุมถึงครูทุกระดับ/ประเภท ทั้งครูอาชีวศึกษา ครูทางเลือก ครูนอกระบบ ครูของครู เร่งรัดผลิตครูพันธุ์ใหม่ และสาขาที่ขาดแคลน ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันผลิตครู คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์และคณะอื่นที่เกี่ยวข้อง สถาบันอุดมศึกษา ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมต้องการให้คณะกรรมการคุรุศึกษาไปสรุปในส่วนของหลักสูตรการผลิตครูให้เกิดความชัดเจน ส่วนเรื่องอัตราของครู ตัวเลขเฉลี่ยโดยทั่วไปอัตราครูต่อนักเรียนในขณะนี้ คือ ๑ : ๒๓ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้ขาดแคลนครู แต่เมื่อนำจำนวนครูที่มีอยู่จริงไปเทียบกับสาขาวิชาที่ครูจบมา ทำให้พบว่ามีความขาดแคลนครูในหลายสาขาวิชา โดย ศธ.ต้องดำเนินการใน ๒ เรื่อง คือ การผลิตครูพันธุ์ใหม่และการสร้างการกระจายความเสมอภาคในการจัดสรรครู

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากในที่ประชุมด้วยว่า ควรหาแนวทางสำหรับผู้ที่จบในสาขาวิชาอื่นแต่เก่ง โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ เคมี วิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครู จะมีแนวทางอย่างไรให้สามารถรับบุคคลเหล่านี้มาเป็นครูได้ ซึ่งจะทำให้สนองตอบต่อปัญหาการขาดแคลนครู

สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ ประกอบด้วย ๙ นโยบายหลัก อาทิ สนับสนุนโรงเรียนดีประจำตำบล อำเภอ จังหวัด และพัฒนาคุณภาพด้วยระบบเครือข่าย โรงเรียนคู่พัฒนา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำตำบล และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ โดยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น สร้างโอกาสการเข้าถึงมาตรฐานการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ (3Ns) ที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ โดยเชื่อมโยงการพัฒนาระบบเครือข่ายใยแก้วน้ำแสงความเร็วสูง (Uninet) และระบบไร้สายให้เข้าถึงทุกโรงเรียนและชุมชน รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการศึกษาที่มีมาตรฐานและเที่ยงตรง ทั้งระดับชาติ (Macro) และระดับสถานศึกษา (Micro) และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มุ่งเน้นโรงเรียนดีประตำตำบลว่า ควรมีแนวทางในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโรงเรียนดีประจำตำบลให้เกิดความชัดเจน และใช้ระยะเวลาไม่นานเพื่อให้เห็นผลและดึงการใช้ทรัพยากรจากโรงเรียนขนาดเล็กให้มาอยู่ที่โรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือ ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ด้อยคุณภาพได้ ซึ่งมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะสามารถยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้ประมาณ ๗,๐๐๐ โรง ก็จะทำให้ใช้ทรัพยากรในโรงเรียนดีประจำตำบลเพิ่มมากขึ้น

การบริหารจัดการใหม่ ประกอบด้วย ๘ นโยบายหลัก อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็กด้วยมาตรการที่เหมาะสม ได้แก่ การควบรวม การปรับปรุงประสิทธิภาพ การสร้างเครือข่าย ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมีการจัดทำแผนที่ตั้งสถานศึกษา (School Mapping) และแผนดำเนินงานแบบขั้นบันไดภายในปี ๒๕๖๑ จัดระบบบัตรทองทางการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและฝึกอาชีพตามความต้องการ ปรับระบบบริหารและการจัดการระบบอุดมศึกษา รวมทั้งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษา โดยปรับบทบาทคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็น Higher Education Commission มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: