วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กรอบนโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ในทศวรรษที่สอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2554-2561) และเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ พร้อมให้ จัดทำรายละเอียดงบประมาณและการติดตามประเมินผลในแต่ละประเด็นหลักเพื่อนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 3 มี.ค.54 ต่อไป

ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กล่าวรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ กนป. ทั้ง 5 ชุด จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการยุทธศาสตร์และนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 22-23 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวนโยบายหลักและจัดลำดับความสำคัญนโยบายเร่งด่วน และสามารถสรุปเป็นหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นหลักที่ 1 กระบวนการเรียนรู้ใหม่ มี 12 นโยบาย ประเด็นหลักที่ 2 ครูยุคใหม่/ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลนมี 11 นโยบาย ประเด็นหลักที่ 3 สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ มี 9 นโยบาย ประเด็นหลักที่ 4 การบริหารจัดการใหม่ มี 8 นโยบาย โดยมีกรอบงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาปี 2555-2561 ดังนี้ ด้านกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ใช้งบประมาณร้อยละ 20 ด้านครูยุคใหม่/ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลน ใช้งบประมาณร้อยละ 35 ซึ่งเท่ากับด้านสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ ส่วนด้านการบริหารจัดการใหม่ใช้งบประมาณร้อยละ 10

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) โดยพิจารณาร่างกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในฐานะประธาน กนป.ได้นำเสนอรายงานของแม็คเคนซี่ ซึ่งเป็นรายงานผลการวิจัยการศึกษาในระดับนานาชาตินำมาเทียบเคียงกับประเทศไทย เพราะเห็นว่าไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศไทยที่เน้นผลผลิตผู้ที่จบการศึกษาสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศ คือ "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งทำอย่างไรจะทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และการเพิ่มทักษะทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่สำคัญซึ่งนายกได้เน้นย้ำก็คือ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะโครงสร้างเวลาเรียนร้อยละ 70 และกิจกรรมร้อยละ 30 ซึ่งตนรับที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้

ครูยุคใหม่/ครูพันธุ์ใหม่ โดยได้เน้นเรื่องการผลิตในหลักสูตร 5 ปี ส่วนครูหลักสูตร 6 ปี ควบปริญญาโทนั้นควรจะมุ่งสู่การสอนในระดับ ม.ปลาย ที่ยังขาดแคลน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากด้วยว่า ควรหาแนวทางสำหรับผู้ที่จบในสาขาวิชาอื่นที่เก่ง โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ เคมี วิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครู จะมีแนวทางอย่างไรให้สามารถรับบุคคลเหล่านี้มาเป็นครูได้ ซึ่งจะทำให้สนองตอบต่อปัญหาการขาดแคลนครู

สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ มุ่งเน้นในการสนับสนุนโรงเรียนดีประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ดึงการใช้ทรัพยากรจากโรงเรียนขนาดเล็กให้มาอยู่ที่โรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และนำไปสู่การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะสามารถยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้ประมาณ 7,000 โรง ก็จะทำให้ใช้ทรัพยากรในโรงเรียนดีประจำตำบลเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

การบริหารจัดการใหม่ ซึ่งนายกได้เน้นย้ำให้สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เร่งคัดเลือกครูสอนดีตำบลละ 1 คน รวม 7,000 คนทั่วประเทศเพื่อเป็นกลุ่มต้นแบบต่อไป “ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบนโยบายหลักเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2554-2561) ตามที่เสนอ และขอให้ไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ และกรอบของการประเมินความสำเร็จทั้ง 4 ประเด็นหลักที่สามารถวัดได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: