วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้คงองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไว้ตามเดิม แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และให้สถาบันมีอำนาจหน้าที่ วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินของสถาบันส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมและเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม กำหนดให้รายได้ของสถาบันไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการให้หรือซื้อด้วยรายได้ของสถาบันเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน

กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุมของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นของกรรมการ ที่ปรึกษา คณะทำงาน

กำหนดให้มีผู้อำนวยการสถาบันโดยการแต่งตั้ง กำหนดคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง

กำหนดให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตาม หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

กำหนดให้สถาบันมีอำนาจให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาที่กำหนด
น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพนั้นมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน เรียก “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” (องค์การมหาชน) ชื่อย่อ สคช. จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคลากรตามมาตรฐานอาชีพ ติดตามและประเมินผลองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม และส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือสถานศึกษา ศูนย์หรือสถาบันอบรม สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนในการเผยแพร่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานวิชาชีพ

นอกจากนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการทำความตกลงกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อดำเนินการในเรื่องที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของสถาบันจัดให้มีและให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบัน เรียกเก็บค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ

ส่วนความคืบหน้าในขณะนี้ สอศ.ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและพร้อมที่จะเสนอให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแล้ว ได้แก่ วิชาแม่พิมพ์โลหะและพลาสติก วิชาชีพยานยนต์ วิชาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิชาชีพโรงแรมและภัตตาคาร วิชาชีพอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ โดย สอศ.จะนำหลักสูตรในสาขาวิชาที่จะผ่านการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาจัดการเรียนการสอนให้ทันในปีการศึกษา ๒๕๕๔ พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ๔-๕ แห่งที่เน้นการผลิตแรงงานตามความต้องการของประเทศ เช่น ยานยนต์ เกษตร เป็นต้น

รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติ ครม. เรื่องโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล

ครม.รับทราบตามที่ ศธ.ได้รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล (ครั้งที่ ๕) ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มอบหมายให้ศูนย์การศึกษาพิเศษร่วมมือกับโรงพยาบาล จัดศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล จำนวน ๒๙ ศูนย์การเรียนสามารถให้บริการทางการศึกษาแก่เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลระหว่างเดือนเมษายน–กันยายน ๒๕๕๓ เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๒,๓๐๐ คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ ๒ : ๒๕๕๓) แผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัยโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ เฉพาะค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ราชการจำนวน ๗,๙๐๓,๔๗๖ บาทเท่านั้น ส่วนงบประมาณการอบรมสัมมนาครูอัตราจ้างที่ทำหน้าที่สอนที่โรงพยาบาล/บุคลากรนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล และสื่อการเรียนการสอน วงเงิน ๓,๒๒๖,๔๖๐ บาท ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ

อนุมัติขอเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช

ครม.อนุมัติในหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปลี่ยนแปลงรายการอาคารเรียนของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จากเดิม อาคารเรียนแบบ ๓๒๔/๔๑ หลังคาทรงไทย จำนวน ๑ หลัง วงเงิน ๒๙,๖๒๕,๒๐๐ บาท ซึ่งไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เป็นอาคารเรียนแบบพิเศษ ๗ ชั้น จำนวน ๑ หลัง วงเงิน ๓๖,๙๑๘,๙๐๐ บาท เพื่อให้อาคารเรียนมีความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างและลดปัญหาความขาดแคลนอาคารเรียนในการจัดการเรียนการสอน โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔–๒๕๕๖ ทั้งนี้ ให้ สพฐ. ทำความตกลงในรายละเอียดของค่าใช้จ่ายกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ตามเห็นของสำนักงบประมาณ

แต่งตั้งข้าราชการ

ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งนางสิริรักษ์ รัชชุศานติ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

อนุมัติดำเนินการโครงการ NEdNet

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ครม.ยังได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติดำเนินการโครงการขยายเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ เพื่อรองรับการศึกษาทั้งระบบ เป็นเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (NEdNet) ส่วนงบประมาณดำเนินการให้ ศธ.ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: