วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

สพฐ.เตรียมนำเข้าครูต่างชาติเกษียณอายุ - นศ.ฝึกงาน สอนภาษาอังกฤษเด็กไทย 300 คน ปี 54

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนครูภาษาอังกฤษ โดยได้มอบหมายให้สถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ.ประสานกับกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยการจัดหาครูชาวต่างชาติเข้ามาสอนในโรงเรียนของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับสถานทูตของประเทศ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ หรือภาษาราชการ และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และ อินเดีย ซึ่งจะทำการรับสมัครครูที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ครูที่เกษียณอายุแล้ว หรือนักศึกษาที่จบหรือเรียนปีสุดท้ายของการศึกษาปริญญาตรี หรือ โท ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ต้องการหาประสบการณ์หรือฝึกสอน หรืออาสาสมัครของมูลนิธิ/องค์กรต่างๆ

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า ครูเหล่านี้จะมาทำการสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ.ปฏิบัติหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ หรือวิทยากร ศูนย์ภาษา หรือทำหน้าที่อบรมครูในพื้นที่ และให้ทำหน้าที่ในส่วนกลาง จัดอบรมครูแกนนำ หรือจัดอบรมสัญจร โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กต.จะร่วมกันยกร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้ทันสอนในปีการศึกษา 2554 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณสนับสนุนต่อไป

“เดิม สพฐ.มีเป้าหมายจะจัดหาครูชาวต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในไทยปีละ 1,000 คน แต่ กต.ได้ให้ความเห็นว่าเพื่อให้การคัดกรองเป็นไปอย่างรอบครอบในปีแรกจึงยังไม่ควรมีจำนวนที่สูงนัก ดังนั้น ในปี 2554 จึงขอที่ 300 คน และมีการต่อสัญญาจ้างปีต่อปี ใช้งบประมาณปีละ 350 ล้านบาท โดย สพฐ.เสนอขอเป็นโครงการต่อเนื่องระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะพอดีกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ปี 2558) โดยคาดว่าจะสามารถสอนได้ทันในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 นี้ เพื่อให้ครูเหล่านี้ไปทำการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนดีประจำตำบล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สพฐ.มีครูในสังกัดที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง และสอนอยู่ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 25,000 คน ประถม 5,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยเพราะขณะนี้ครูส่วนใหญ่ที่สอนสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนประถมจะใช้ครูประจำชั้นไม่ใช่ครูที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ดังนั้น หากมีครูต่างชาติเหล่านี้เข้ามาเสริมก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: