วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

การประชุมองค์กรหลัก ศธ. ครั้งที่ ๖/๒๕๕๔

• โครงการและกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานใน ศธ.จัดโครงการ/กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เพิ่มเติมอีก ๗ โครงการ จากที่ได้เคยเสนอรัฐบาลไปแล้ว ๑๐ โครงการ ดังนี้

๑. โครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งดำเนินการเพื่อการกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
๒. โครงการการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ ชุดพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

๓. โครงการปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์ สบย.๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาฯ โดยสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ ๙ (สบย.๙)

๔. โครงการพัฒนาการ์ตูน 3D Animation “ไซน์คิดส์ พิชิตปริศนา” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

๕.โครงการการจัดพิมพ์หนังสือยุวหมอดิน : ธรรมชาติทรัพยากรดินและการจัดการ (Young Soil Scientist : Nature of Resource and Management) เรียนรู้หลักการทรงงาน สืบสานพระราชปณิธานด้านทรัพยากรดินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเผยแพร่หลักการทรงงานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากรดิน ดำเนินการโดย สสวท.

๖. โครงการเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ถวายพระพรออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตจำนวน ๙ ล้านคน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน – ๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

๗. โครงการกิจกรรมบำเพ็ญยุวกาชาด ประจำปี ๒๕๕๔ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภก สภากาชาดไทย ทรงพระชนมมายุ ๘๔ พรรษา ดำเนินการโดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน

• โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับนโยบายการประกาศปีคุณภาพครู

ที่ประชุมเห็นชอบโครงการที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ได้วางแผนที่จะดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ๖ โครงการ ดังนี้

๑. โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.)

๒. โครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

๓. โครงการพัฒนาพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษสำหรับผู้บริหาร ที่จะให้การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ ๑

๔. โครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาของประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

๕. โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโครงการ GURU Online

๖. โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาหลักสูตรเฉพาะสาขา ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๓ หลักสูตร

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ ผอ.สคบศ.รายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ ต่อไปด้วย

• สพฐ. รายงานผลการดำเนินงานตามแผนบริหารความเสี่ยงในการเปิดสอบแข่งขันบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย

ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมของ สพฐ.ในการป้องกันการทุจริตจากการที่จะเปิดสอบบรรจุข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยได้ให้นโยบายว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียน คือ การสอบต้องใช้ระยะเวลาให้เสร็จในครั้งเดียว การสอบต้องเป็นระบบคุณธรรม การเปิดสอบเพื่อให้ได้ครูตรงตามวิชาเอกที่จะไปสอน ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดทำแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ ไว้ดังนี้

๑. มาตรการป้องกันข้อสอบรั่วไหลและทุจริตในการสอบแข่งขัน

- จุดอันตรายในการสอบแข่งขัน โดยพิจารณาถึง ๑) กระบวนการผลิตข้อสอบต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องสถานที่ใช้ในการผลิตข้อสอบ การแต่งตั้งกรรมการออกข้อสอบและเจ้าหน้าที่ผลิตข้อสอบ การเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ และเจ้าหน้าที่ผลิตข้อสอบ ตั้งแต่วันเริ่มออกข้อสอบจนถึงวันสอบวันสุดท้าย การจัดชุดข้อสอบ การบรรจุข้อสอบเข้าซอง และการเก็บรักษาข้อสอบ ๒) กระดาษคำตอบสูญหาย ต้องตรวจนับจำนวนการบรรจุซองและการเก็บรักษา

- การสอดส่องดูแลและป้องกันการทุจริต ก่อนสอบ จะต้องมีการสอดส่องพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน และบุคคลภายนอกที่มาติดต่อ มีการประชุมกรรมการและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวกับการดำเนินการสอบทุกขั้นตอน จัดรายการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ระหว่างสอบ การกำหนดจุดรายงานเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีการขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัยสนามสอบ กรรมการกำกับห้องสอบให้มีการสับเปลี่ยนกันในแต่ละวัน การตรวจสอบหลักฐานของผู้เข้าสอบ การตรวจสอบผู้เข้าสอบและจัดสถานที่ให้เหมาะสม การให้ความสะดวกแก่ผู้สื่อข่าวและผู้ที่มาสังเกตการณ์ การจัดสถานที่ให้ผู้ติดตามหรือบุคคลภายนอกไม่ให้รบกวนผู้เข้าสอบ การส่งกระดาษคำตอบให้วางไว้ที่โต๊ะผู้เข้าสอบแล้วให้กรรมการกำกับห้องสอบเป็นผู้เก็บ การดูแลเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารที่รบกวนระหว่างสอบ หลังสอบ การนับและเก็บกระดาษคำตอบให้ครบ โดยสามารถประกาศผลให้รวดเร็ว

๒. สพฐ.แจ้งแนวปฏิบัติ ห้ามผู้ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการสอบเกี่ยวข้องกับการจัดกวดวิชาหรือสถานกวดวิชา และให้ สพป.และ สพม.เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการป้องกันข้อสอบรั่วไหล และการทุจริตในการสอบแข่งขันทุกขั้นตอน

๓. สพท.ตั้งกรรมการเพื่อสอดส่องดูแลการดำเนินการสอบ

๔. สพฐ.แต่งตั้งคณะทำงานของส่วนกลางเข้าไปติดตามดูแลให้คำแนะนำ

สำหรับปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา พบว่า สพท.ยังปฏิบัติไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การกำหนดคุณวุฒิ กลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอก มีกรณีที่ผู้สมัครจบจากสถาบันและสาขาวิชาเอกเดียวกัน บาง สพท.รับสมัครสอบ แต่บาง สพท.ไม่รับสมัครสอบ หรือบาง สพท.ผ่อนผันในการรับเอกสารประกอบการสมัคร แต่บาง สพท.ไม่ผ่อนผัน ทำให้ผู้สมัครร้องเรียน นอกจากนี้ข้อสอบไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละเขตพื้นที่ รวมทั้งการเปิดสอบกลุ่มวิชาเอกหลายกลุ่มวิชา หรือกลุ่มวิชาเอกที่ไม่ได้เปิดสอบบ่อย ทำให้มีผู้มาสมัครสอบเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาในการแต่งตั้งกรรมการออกข้อสอบ กรรมการกำกับห้องสอบ ซึ่งต้องใช้กรรมการเป็นจำนวนมาก และอาจไม่ได้มาตรฐาน และยากต่อการควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ สพฐ.ได้กำหนดแนวทางแก้ไขว่าควรจะต้องดำเนินการสอบแข่งขันเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันทุกขั้นตอน โดย ก.ค.ศ.กำหนดหลักสูตรและวิธีดำเนินการสอบให้ถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ สพฐ.กำหนดนโยบาย ปฏิทินในการสอบ พร้อมทั้งมีการจัดประชุมชี้แจงการดำเนินการสอบแข่งขันให้แก่ ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท. และ ผอ.กลุ่มบริหารงานบุคคลของ สพท.ที่ดำเนินการสอบ และจัดทำคู่มือเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการแข่งขันสำหรับ สพท.ต่างๆ รวมทั้งจะต้องมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินงานสอบของ สพท. โดยให้คำแนะนำ แก้ปัญหา ติดตาม และรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ

• โครงการบ้านน้ำใจ กระทรวงศึกษาธิการร่วมสร้างบ้านให้นักเรียน เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน

จากการที่ ศธ.ได้จัดสัปดาห์เยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้ทราบว่ายังมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่าครอบครัวนักเรียนบางคนอาศัยใต้สะพานลอย บ้านเช่าคับแคบ ฯลฯ ดังนั้น ศธ.จึงจัดโครงการนี้เพื่ออุปถัมภ์นักเรียนกลุ่มดังกล่าว และเป็นการทำความดีเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยได้สำรวจนักเรียนที่จะได้รับการช่วยเหลือสร้างบ้านให้จำนวน ๘๔ หลัง ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้มอบบ้านให้ไปแล้ว ๓ หลัง ที่เขตหนองแขม กรุงเทพฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง และรอการรับมอบบ้านอีก ๖ หลัง รวมทั้งอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก ๗๕ หลัง ซึ่งบ้านแต่ละหลังไม่ได้ใช้งบประมาณของราชการ แต่เป็นงบประมาณที่ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน โดยให้นักศึกษาอาชีวะไปช่วยสร้างบ้าน ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ จะมอบบ้านให้นักเรียนได้ครบถ้วนทั้ง ๘๔ หลัง

ไม่มีความคิดเห็น: