วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

การจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ ๑๐


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ ๑๐ โดยมี Mr.Gwang-Jo Kim ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประเทศไทย พร้อมด้วยนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงานเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี

ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน หรือ World Conference on Education for all ที่จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ และได้มีการรับรองปฏิญญาจอมเทียนเป็นครั้งแรก โดยได้ระบุเป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้

๑. ขยายการดูแลเด็กปฐมวัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ
๒. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
๓. ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานทางการเรียนที่สูงขึ้น
๔. ลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอัตราในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยเน้นการเรียนรู้ของเด็กหญิงและสตรี
๕. ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเยาวชนและผู้ใหญ่
๖. เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และค่านิยม ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและครอบครัว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ องค์การยูเนสโกได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล แต่ผลปรากฏว่า ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาจอมเทียนได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ไว้ในกรอบปฏิญญาดาการ์ ดังนี้

๑. ขยายและปรับปรุงการศึกษาและการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กที่เปราะบางและด้อยโอกาส
๒. จัดให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย สามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพ
๓. จัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้ใหญ่ผ่านโครงการทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน
๔. พัฒนาอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐
๕. ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาระดับประถมและมัธยม โดยเน้นการเข้าถึงของเด็กผู้หญิงและทำให้เกิดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ
๖. พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้านและรับรองความเป็นเลิศทั้งหมด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ โดยเฉพาะในเรื่องการรู้หนังสือ การคำนวณตัวเลขและทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนถึงการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งแรก โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมครั้งนี้ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้กราบบังคมทูลกล่าวรายงาน

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้เชิญผู้นำด้านการศึกษาของประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๔๕ ประเทศ รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๒๐๐ คน นอกจากการประชุมของผู้นำระดับสูงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อปวงชนของไทย พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการจัดดูงานให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการศึกษาของไทย รวมถึงโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลายประเทศอาจนำไปปรับใช้เป็นแบบอย่างของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนได้

การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ จะเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงความตั้งใจ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนของสังคมไทยในการให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อปวงชน และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดรับการการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: