วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ครั้งที่ ๒

คณะอนุกรรมการ กนป.จัดทำแผนงบประมาณขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ ที่มีนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศธ.เป็นประธาน ได้รายงานการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษามาแล้ว ๖ ครั้ง รวมทั้งมีการประชุมเชิงปฏิบัติการอีก ๑ ครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปถึง “กรอบงบประมาณ” ที่จะต้องใช้เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาใน ๔ ด้าน ในระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๖๑ รวมทั้งสิ้น ๑๔๓,๑๔๒.๐๙๒ ล้านบาท ดังนี้

๑) ครูยุคใหม่/ครูพันธุ์ใหม่/ครูสาขาขาดแคลน ค่าน้ำหนักร้อยละ ๔๘ ของงบประมาณทั้งหมด
๒) สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ ค่าน้ำหนักร้อยละ ๓๖ ของงบประมาณทั้งหมด
๓) กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ค่าน้ำหนักร้อยละ ๘ ของงบประมาณทั้งหมด
๔) การบริหารจัดการใหม่ ค่าน้ำหนักร้อยละ ๘ ของงบประมาณทั้งหมด

ที่ประชุม กนป.ได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบวงเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าว โดยให้ดำเนินการตามกรอบงบประมาณทั้ง ๔ ด้านดังกล่าว
สำหรับปี ๒๕๕๕ ได้กำหนด ๑๐ นโยบายเร่งด่วนในการปฏิรูปการศึกษา โดยดำเนินการตามข้อคิดเห็นรายงานการวิจัยของ McKinsey ที่มองความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ว่าหากมีนโยบายจำนวนมากจะทำไม่ได้ แต่ควรหยิบบางเรื่องที่มีปัญหาเร่งด่วนมาดำเนินการก่อน ซึ่งได้เห็นชอบงบประมาณปี ๒๕๕๕ จำนวน ๑๒๗,๓๐๒.๑๓๖ ล้านบาท ดังนี้

๑) พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะวิทย์ คณิตฯ ไทย อังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ๒,๘๐๑ ล้านบาท

๒) ปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นกิจกรรมมากขึ้น ๗๐:๓ ๕๖๖ ล้านบาท

๓) พัฒนาทักษะครู ๑,๗๔๒ ล้านบาท

๔) ผลิตครูพันธุ์ใหม่ ๗๓๑ ล้านบาท

๕) ผลิตครูสาขาที่ขาดแคลนและครูวิชาชีพ ๑,๘๓๖ ล้านบาท

๖) โรงเรียนดีประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ๑,๖๙๖ ล้านบาท

๗) สร้างโอกาสเข้าถึงมาตรฐานเทคโนโลยีทางการศึกษา 3Ns ๕,๐๙๙ ล้านบาท

๘) MOU ระหว่างผู้บริหาร ครู เขตพื้นที่ฯ สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ ๑๖๐ ล้านบาท

๙) เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็ก ๘๒๕ ล้านบาท

๑๐) สร้างแรงจูงใจให้มีผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ๓๘๐ ล้านบาท

เห็นชอบกรอบการประเมินการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

ที่ประชุมเห็นชอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย “๔ ยุทธศาสตร์ ๑๐ ตัวบ่งชี้” คือ

๑) คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล มี ๓ ตัวบ่งชี้ - ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติ มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่า ๕๐% - เด็กปฐมวัยไม่ต่ำกว่า ๗๕% ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาให้มีประสบการณ์เรียนรู้ที่มีคุณภาพ - สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษากับสามัญศึกษา เป็น ๖๐:๔๐

๒) คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มี ๒ ตัวบ่งชี้ - อัตราการรู้หนังสือของประชากร (๑๕-๖๐ปี) เป็น ๑๐๐% - เด็กด้อยโอกาสได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วน

๓) คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย มี ๔ ตัวบ่งชี้ - ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่า ๗๕% มีคุณธรรมจริยธรรมและมีความเป็นพลเมือง - จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจลดลง ๑๐% ต่อปี - จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีที่ตั้งครรภ์ลดลง ๑๐% ต่อปี - จำนวนเด็กเข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลง ๑๐% ต่อปี

๔) คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร มี ๑ ตัวบ่งชี้ - คนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์

รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ กนป.ด้านการพัฒนาอาชีวศึกษา

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาอาชีวศึกษา ที่ได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ๕ ด้าน คือ

๑) มีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ และมีการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

๒) มีการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับรองสมรรถนะความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

๓) ขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนในระบบดังกล่าวเป็นร้อยละ ๓๐ ของผู้เรียนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

๔) สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญศึกษา เป็น ๖๐:๔๐

๕) กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะตามวิชาชีพมาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: