วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาพิจารณ์ การพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ดร. สุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมประชาพิจารณ์ เรื่อง การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติและวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ ณ โรงแรมไดมอนพลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดทำขึ้น

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน กล่าวว่า การผลิตกำลังคนในปัจจุบันพบปัญหาว่าสถาบันการศึกษายังไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ อาชีวศึกษาเปิดรับนักศึกษาจำนวนมากแต่คนไม่นิยมเข้าเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่จบอาชีวศึกษากลับนิยมไปเรียนปริญญาตรี โดยเปลี่ยนสาขาที่เรียน เช่น เรียนช่างอุตสาหกรรมในระดับปวส.แต่ศึกษาต่อในสาขาคหกรรมในระดับปริญญาตรี ทำให้ขาดกำลังคนสู่ตลาดแรงงาน และจากการสำรวจยังพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์มีอัตราว่างงานสูง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งเน้นผลิตคนดี คนเก่ง และการผลิตคนไทยให้มีคุณภาพ จบการศึกษาแล้วตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ จึงได้กำหนดในข้อเสนอการปฏิรูปให้มีการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติขึ้น เพื่อให้มีระบบวัดความสามารถหรือสมรรถนะของบุคคลที่เทียบได้กับวุฒิทางการศึกษา ถ้าทำมาตรฐานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสำเร็จจะทำให้ระบบการจ้างงาน ระบบการเทียบโอน ระบบการศึกษา รวมถึงค่าตอบแทนจะเกิดการปรับระบบใหม่ การศึกษาไม่ใช่เพื่อใบปริญญาแต่จะเป็นเพื่อความรู้ความสามารถ

ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและคณะวิจัย กล่าวถึงผลการพัฒนากรอบคุณวุฒิว่ากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF)เป็นกรอบที่แสดงให้เห็นระดับความสัมพันธ์ระหว่างคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพหรือระดับความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคคลที่มีเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเป็นเครื่องมือพัฒนาและจัดประเภทคุณวุฒิของชาติในระดับต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงกับคุณวุฒิในระดับสากล ซึ่งประเทศไทยมีแต่กรอบมาตรฐานของแต่ละระดับ เช่น อุดมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานที่บอกว่าจะจบการศึกษาต้องมีสมรรถนะอะไร แต่ยังไม่มีกรอบใหญ่ที่ครอบคลุมทุกระดับการศึกษาหรือกรอบคุณวุฒิของประเทศ การวิจัยนี้จึงเริ่มจากการศึกษากรอบคุณวุฒิในประเทศต่างๆ เช่น กรอบคุณวุฒิแห่งชาติของ EU และของประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศในอาเซียน หลังจากนั้นนำมาวิเคราะห์และพบว่าประเทศไทยสามารถแบ่งระดับคุณวุฒิได้ ๗ ระดับ ตั้งแต่ม.ต้น ถึง ปริญญาเอก โดยเน้นองค์ประกอบสำคัญ ๓ ด้าน คือ ๑.ด้านความรู้ เช่น ความรู้คอมพิวเตอร์ ความรู้ภาษาอังกฤษ ๒.ด้านทักษะ ๓.ด้านสมรรถนะ เช่น การแก้ปัญหา ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๓ จะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับ ดร.ศิริพรรณยังเน้นว่าหัวใจสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ คือ สมาคมวิชาชีพ ผู้ประกอบการต้องมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานอาชีพ ว่าอาชีพนั้น ๆ ต้องการคนที่มีลักษณะใด และต้องมีหน่วยงานกลางมารับผิดชอบจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับคุณวุฒิวิชาชีพที่สมาคมวิชาชีพต้องการ

นายจิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องกำลังคนของไทย คือ ๑.ค่านิยมที่คนมุ่งเรียนปริญญาตรี ไม่มีคนอยากเรียนอาชีวะ ๒.คุณภาพการผลิต ไม่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเสียเวลาผลิต ๓.คนที่จบการศึกษาก็คิดว่าตนจบแล้วจึงไม่สนใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ขาดความคิดที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้ไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จึงเกิดปัญหาต้องออกจากงาน เพราะทำไม่ได้ ๔.ประเทศไทยต้องเตรียมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของประชาคมอาเซียน ถ้าไม่มีมาตรฐาน ไม่มีระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถเปรียบเทียบกับต่างประเทศมารองรับ คนไทยอาจสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น องค์ประกอบ ๓ ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะ จะอยู่แต่เพียงในกระดาษไม่ได้ ต้องเอาไปปฏิบัติ ซึ่งอย่างแรกต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งขณะนี้ผ่าน ครม.แล้ว กำลังรอผ่านสภาผู้แทนอนุมัติ และ๒.ต้องมีสถาบันกลางมารับผิดชอบการจัดทำคุณวุฒิแห่งชาติ เพราะอุตสาหกรรมมีหลากหลายสาขา การจัดทำคุณวุฒิจะเป็นแกนกลางที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมาร่วมกันกำหนดว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องการคนในคุณลักษณะใด เมื่อได้มาตรฐานแล้ว ในอนาคตสถาบันกลางก็จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเทียบสมรรถนะกับคุณวุฒิการศึกษาต่อไป

นายนภดล ศรีภัทรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความเห็นว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษา เกิดจาก ๑.ทัศนคติในการเรียนหนังสือ ประเทศเราสร้างคนให้มีทัศนคติที่ต้องการทำงานเบาๆ สบายๆ แต่ได้ค่าตอบแทนมากๆ ทำให้คนคิดว่าเรียนไปเพื่อให้ตนสบาย เราจึงไม่ได้สร้างพลเมืองให้ประเทศชาติมาหลายปี ทำให้สุดท้ายไม่มีพลเมืองใช้ ประชาชนเรามีไม่น้อย แต่พลเมืองเราน้อยเพราะค่านิยมเช่นนี้ ๒.ความรู้ความสามารถของผู้สอน ต้องใช้คนที่มีเชี่ยวชาญมาสอน แต่ปัจจุบันผู้สอนเก่งแต่ด้านวิชาการแต่ไม่เคยทำงาน เมื่อครูไม่เคยทำงาน เด็กก็ทำงานไม่ได้ เหมือนคนว่ายน้ำไม่เป็นมาสอนว่ายน้ำ ๓.แบบเรียนไม่น่าสนใจ ทำให้เด็กไม่ชอบการอ่าน ไม่มีความสุขในการอ่านหนังสือ อ่านอะไรก็ไม่แตก ความรู้ก็ไม่ลึกซึ้ง ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ เท่ากับบัณฑิตที่จบการศึกษาไม่ได้สักภาษา เพราะภาษาไทยก็ไม่แตก อังกฤษก็ไม่ได้ วุฒิบัตรไม่ได้ยืนยันความสามารถของผู้เรียน เพราะความรู้มาจากการฟังมาก อ่านมาก ซึ่งทำให้ยากที่เด็กจะรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ๔.ปรัญชาการศึกษาไม่ชัดเจน ไม่รู้ผลิตคนไปเพื่ออะไร สมัยก่อนบอกว่าเตรียมคนเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะมีเป้า ๓ เรื่อง คือ คน สังคม ความสุข แต่ปัจจุบันเห็นแต่พัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสังคม วัฒนธรรม คิดแต่ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาแต่ไม่ได้คิดว่าสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจวัฒนธรรม ก็จะไม่รู้ที่มา ไม่มีรากเหง้า ไม่รู้ปัจจุบัน แล้วจะไปหาอนาคตที่ไหน เกาหลีใต้ใช้แค่ ๓ เรื่องสร้างชาติ คือวัฒนธรรม กีฬา และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปรับประเทศ ๑๐ กว่าปี ประเทศเจริญได้ วัฒนธรรมเขาขายได้ ประเทศเราเคยคิดเรื่องนี้ไหม วันนี้เราไปดูเพื่อนบ้านว่าเขาทำอย่างไร เรารู้เพื่อนบ้านหมด แต่ที่เราไม่รู้ คือตัวเราเอง

ไม่มีความคิดเห็น: