วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

การประชุมสัมมนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนจุฬาภรณวิทยาราชวิทยาลัย

รมว.ศธ.กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย เพิ่มมากขึ้น จึงจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้ ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเริ่มต้นจากแนวคิดในการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ได้ดำเนินการและสนับสนุนการเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย

ซึ่งในเวลาต่อมา ประเทศไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ตลอดถึงการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จึงได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชิญประชุมผู้บริหารโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ในส่วนของ ศธ.ได้ขับเคลื่อนและดำเนินการตามโครงการ โดยขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ใน ๓ เรื่อง ดังนี้

อนุมัติให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จำนวน ๑๒ แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหน้าที่ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ ในลักษณะของโรงเรียนประจำ

อนุมัติงบประมาณผูกพัน จำนวน ๖,๐๐๐ ล้านบาท โดยจัดเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นเป็น ๙๔,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี ตามอัตราที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ให้การสนับสนุนห้องเรียนวิทยาศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ (พฤษภาคม–กันยายน ๒๕๕๔) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ จากโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๑๕ ปี ที่ได้รับมาดำเนินการก่อน และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสม

อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการอื่นอีก ๑๖ คน

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เราไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้เท่ากันได้ เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานทางสมอง สมรรถนะ และความพร้อมของแต่ละบุคคล ซึ่ง ศธ.จะต้องส่งเสริมผู้เรียนที่มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อให้เป็นมันสมองของประเทศให้ได้ เพราะหากเราสามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยได้ ๑ คน ก็จะสามารถคิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับประเทศและโลกได้อย่างมากมาย

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยที่จะเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ๑๒ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยสตูล โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเลย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยลพบุรี โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยพิษณุโลก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยชลบุรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาคนั้นๆ

นอกจากนี้เพื่อเป็นฐานในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมได้ ตลอดจนเพื่อเป็นต้นแบบและกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: