วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

การประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารงานบุคคลของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา) ๔๒ เขตพื้นที่การศึกษามัยธมศึกษาทั่วประเทศ และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร กว่า ๔๕๐ คน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

รมว.ศธ.กล่าวว่า มีความคาดหวังให้คณะบุคคลของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา บริหารงานบุคคลที่นำไปสู่ขวัญและกำลังใจของครู เพราะครูเป็นหัวใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเพื่อสนองตอบต่อการประกาศให้ปีนี้เป็นปีคุณภาพครู ซึ่งได้มอบแนวทางการดำเนินงาน ๓ เรื่อง ดังนี้

- การบริหารงานด้วยระบบคุณธรรม เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นองค์คณะบุคคลที่บริหารงานด้วยระบบคุณธรรม มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการบรรจุครูตามคุณวุฒิและความสามารถ มีการปูนบำเหน็จความดีความชอบด้วยการสนองตอบต่อผลงาน ซึ่งในอนาคตต้องการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นองค์กรต้นแบบของการบริหารงานด้วยระบบคุณธรรมให้กับองค์กรอื่นๆ

- การไม่หาประโยชน์จากครู ขอให้องค์คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุครู แต่งตั้งครู หรือโยกย้ายครู ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และไม่ให้มีข้อกล่าวหาว่าเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากครู

- สนองตอบต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะการประกาศปีคุณภาพครู ขอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นองค์กรขับเคลื่อน และร่วมสร้างครูยุคใหม่ที่ไม่เพียงแต่ให้เป็นครู แต่จะต้องใส่ความเป็นครู คือมีจิตวิญญาณของความเป็นครูด้วย

รมว.ศธ.กล่าวย้ำว่า ขอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา สร้างภาพพจน์และภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อจะได้ยกระดับมาตรฐานขององค์คณะบุคคลที่บริหารงานให้แก่ครูทั่วประเทศให้เป็นที่ยอมรับ และในอนาคตให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นอกจากนี้ ยังได้ฝากข้อสังเกตว่า แม้องค์คณะบุคคลชุดนี้จะเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล แต่จะต้องเชื่อมโยงกับการบังคับบัญชา ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบด้วย สำหรับการบริหารงานของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของ ศธ. ให้ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ขอให้ยึดแนวทางการดำเนินงาน ๓ เรื่อง ได้แก่

- ๕ ฟรี ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์คุณภาพด้านการจัดการศึกษา โอกาส และการมีส่วนร่วม

- ๔ ใหม่ เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนให้เกิดพลเมืองยุคใหม่ ที่เก่ง ดี มีความสุข และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูยุคใหม่ ตั้งแต่การผลิตครูโดยให้ความเป็นครู ให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง การใช้ครูให้ครูได้สอนตรงกับสาขาวิชาเอก พัฒนาครูโดยการจัดอบรมด้านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของโลกที่มีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในระดับผู้บริหารก็จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมด้วย สถานศึกษายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนสู่มาตรฐานสากล โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ๑๒ แห่ง ขอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาร่วมทำงานกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้คุณภาพเกิดขึ้นจากห้องเรียนให้ได้ ส่วน ศธ.ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย จะดำเนินการเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ได้มากที่สุด เช่น งบประมาณ บุคลากร และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการบริหารจัดการยุคใหม่ ขอให้ดำเนินการตามแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา การแลกเป้า คือ การของบประมาณในแต่ละครั้ง จะต้องแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของการดำเนินงานในเชิงรุก หรือการจัดทำโครงการต่างๆ อย่างชัดเจน และการเข้าถึง ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ไม่เพียงแต่จะนัดประชุมร่วมกันเท่านั้น แต่จะต้องทำงานร่วมกันแบบเชื่อมโยงการบริหารและ บูรณาการการทำงานแบบองค์รวม เพื่อขับเคลื่อนและสนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม

- ๖ คุณภาพ ประกอบด้วยจุดเน้น ๖ ด้าน คือ
๑.โครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ
๒.คุณภาพผู้เรียน
๓.คุณภาพครู
๔.คุณภาพสถานศึกษา
๕.เทคโนโลยีสารสนเทศ
๖.คุณภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น: