วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

การประชุมนานาชาติเพื่อการพัฒนาและการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ


(27 เมษายน 2554) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมนานาชาติ เรื่องการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ณ โรงแรมพลูแมนคิงเพาเวอร์ กทม. โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การร่วมมือทางการศึกษา อาทิ UNESCO ,AEI , GIZ , ILO , The British Council และองค์การระหว่างประเทศรวม 17 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สก็อตแลนด์ นิวซีแลนด์ เยอรมัน เกาหลี จีน แอฟริกาใต้ บรูไน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม โคลัมเบีย และไทย

ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุมว่า ปัจจุบันนานาประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนการเทียบโอนประสบการณ์ มองเห็นถึงเส้นทางการเรียนรู้และความก้าวหน้าอย่างชัดเจน และยังเป็นการส่งเสริมการประกันคุณภาพของระบบการศึกษาและบุคคลตามระดับคุณวุฒิอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญร่วมกันในการยกระดับการแข่งขันของภูมิภาค การร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาระหว่างกัน การพัฒนามาตรฐานการศึกษาร่วมกันของสถาบันการศึกษาในภูมิภาค การรับรองระบบเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนากำลังคนให้เป็นมาตรฐานเทียบกับอาเซียนและนานาประเทศ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่เน้นย้ำให้มีการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ ความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาระบบการประเมินผลที่เน้นสมรรถนะ เพื่อประกันคุณภาพว่าผู้จบการศึกษาจะมีความรู้และสมรรถนะที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

นายโช กวาง ชาง ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและปฏิรูปการศึกษา สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า นานาชาติต่างกำลังยกระดับคุณวุฒิทางการศึกษาให้สามารถเทียบเคียงกันได้ ระหว่างวุฒิทางการศึกษาที่แต่ละคนสำเร็จกับมาตรฐานขั้นต่ำในแต่ละอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ จากประสบการณ์ในการปฏิบัติพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความต้องการหลากหลาย ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงต้องใช้เวลาและความพยายามที่จะหาฉันทามติของทั้ง 2 กลุ่มในการกำหนดความรู้ความสามารถและทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาที่ฝ่ายผู้ใช้กำลังคนยอมรับได้

ที่มา - ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: