วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ ๕


ที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นชอบตั้งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาชุดต่างๆ ดังนี้

๑. นายประดิษฐ์ บุดดีจีน ครูชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน เป็นกรรมการผู้แทนข้าราชการครูใน ก.ค.ศ. แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งได้รับการเลือกตั้งในกลุ่มสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังได้รับการอนุมัติตั้งให้เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ จำนวน ๓ คณะ คือ อนุกรรมการวิสามัญการกำกับติดตามและประเมินผลการบริหารงานบุคคล อนุกรรมการวิสามัญเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อนุกรรมการวิสามัญตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลงด้วย

๒. ผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งแต่งตั้งจากการคัดเลือก ดังนี้

- สพป.เชียงราย เขต ๑ คือ นายสัจจา วงศาโรจน์

- สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต ๑ คือ นายสวัสดิ์ สุขีสาร

- สพป.เพชรบูรณ์ เขต ๑ คือ ว่าที่ ร.ต.ตวงพล ถนอมสิงหะ

- สพป.นครราชสีมา เขต ๑ คือ นายเกษม ศุภรานนท์

เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ แก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๗๗

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่สมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทยได้ร้องขอให้ ศธ.จัดสวัสดิการให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ รวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว อาทิ การให้บำเหน็จบำนาญ ๗ ขั้น และกรณีจะต้องดูแลสวัสดิการของครอบครัวครูผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวการนี้มีผลใช้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไป โดยให้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอเรื่องเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ ๓ พฤษภาคมนี้

เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (อ.เทพา สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ) มีวิทยฐานะชำนาญการ และเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับครูในพื้นที่ โดยได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินด้านที่ ๓ ด้านผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่ ๑ คือ ข้อจำกัดตามสภาพความยากลำบากในการปฏิบัติงาน อาทิ ครู ให้พิจารณาจากการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาวิชาการ ผลที่เกิดกับผู้เรียน และผลการปฏิบัติงานหน้าที่ เป็นต้น และส่วนที่ ๒ ผลงานที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งใช้เฉพาะระดับการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ให้ประเมินจากผลงานที่ประสบความสำเร็จที่เป็นเชิงประจักษ์ โดยให้พิจารณาจากผลงานไม่น้อยกว่า ๑ รายการ

อย่างไรก็ตาม ในด้านคุณสมบัติการประเมิน การพัฒนาปรับปรุงยื่นคำ เกณฑ์ การยื่นคำขอส่วนใหญ่ ยังคงใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินฯ ของภาคใต้และ ว.๑๗/๒๕๕๒ เดิม

ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: