วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนฯ และยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจฯ

(6 พ.ค.54) นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) ครั้งที่ 2/2554 ว่า มีเรื่องเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ ร่างยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนเอกชนต่อผู้เรียนภาครัฐให้สูงขึ้นเป็น 35:65 ซึ่งเดิมในปี 2552 อยู่ที่ 19 : 81 และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งจะต้องได้รับรองคุณภาพและมาตรฐานจาก สมศ. โดยกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ประการ คือ
1.การส่งเสริมให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีบทบาทในการจัดและร่วมจัดในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
2.เปลี่ยนบทบาทการจัดการศึกษาของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดได้ดี มีคุณภาพ โดยรัฐมุ่งเน้นการสนับสนุนวิชาการ ติดตาม และประเมินผล
3.ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน
4.ส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหรือส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย
5.ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน โรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน (Education Hub)
6.ส่งเสริมภาคเอกชนนำผลวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบการศึกษา

รองเลขาธิการ กกศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับวาระที่ 2 เป็นร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา แบ่งเป็นเขตพื้นที่ปะถม-มัธยม จำนวน 183 และ 42 เขต ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่และเสริมสร้างความเข้มแข็งสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจและหน้าที่ตามศักยภาพและความพร้อม 2.การสร้าง การพัฒนา และการเสริมสมรรถนะ/ศักยภาพของผู้บริหาร 3.การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ให้เอื้อต่อความเป็นนิติบุคคลและความเป็นอิสระคล่องตัวของสถานศึกษา 4.การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกสังกัด 5.การจัดสรรงบประมาณโดยยึดทั้งพื้นที่และยึดวัตถุประสงค์เฉพาะเป็นหลัก 6.ส่งเสริมความเข้มแข็งของเขตพื้นที่ในการส่งเสริมสถานศึกษาและหน่วยงานอื่นจัดและร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

“จากนั้น ที่ประชุมได้อภิปรายในแต่ละประเด็นอย่างกว้างขวาง และให้ข้อคิดเห็นที่หลากหลาย โดยในเรื่องของยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนฯ นั้น คณะกรรมการเห็นว่ามีประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างมาก แต่บางยุทธศาสตร์ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงขอให้คณะอนุกรรมการนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ส่วนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจฯ คณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องแยกยุทธศาสตร์ในแต่ละเขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษาว่าใครควรทำอะไร เนื่องจากมีบริบทที่แตกต่างกันทั้งในเรื่อง งบประมาณ บุคลากร และวิชาการ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานด้วย มติที่ประชุมจึงขอให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ นำกลับไปพิจารณาใหม่อีกรอบ แล้วนำกลับเข้ามาในการประชุม กกศ. ครั้งหน้า ก่อนนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป” นางสาวสุทธาสินี กล่าวสรุป

ไม่มีความคิดเห็น: