วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"ไทย"ต้อง"ปฏิวัติการศึกษา"เปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด"ไม่ใช่ปฏิรูป"

ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย หรือศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชา International/Intercultural Education ภาควิชา Organizational Leaderships, Policy and Development แห่ง University of Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวในงาน “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยต้องปฏิวัติการศึกษา เปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ปฏิรูป เพราะการปฏิรูปศึกษาไทยที่ผ่านมาเน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้าง มุ่งเน้นแต่เรื่องวัตถุ โรงเรียนมีอุปกรณ์ดี แต่กลับไม่เน้นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียน และดูแต่เรื่องของผลสอบ ผลคะแนน ไม่ได้ดูว่าครูต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีการเรียนรู้ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ไม่ใช่สอนให้ท่องจำ หรือสอนเพื่อสอบ

ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย อธิบายว่า การปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นการศึกษาไทยดีในทุกด้าน คนไทยมีความเป็นไทย มีทักษะในทุกบริบท ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นอาญานิคมของประเทศอื่น เป็นการเรียนรู้โดยมีพระ วัดเป็นศูนย์กลาง เรื่องคุณธรรมจริยธรรมการศึกษาในอดีตจึงสอนได้ดี ฉะนั้นการศึกษาไทยควรย้อนกลับไปดูการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาการปฏิรูปการศึกษาระยะที่สอง หลังเกิด 14 ตุลาคม ปฏิการศึกษาไทย มีการกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชน ท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนระยะที่สาม ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเปิดโอกาสทางการศึกษา มีการบังคับการศึกษา 9 ปี และมาถึงปัจจุบัน ระยะที่สี่ การปฏิรูปการศึกษาไทยเน้นการปรับปรุง การบริหาร แต่ไม่ได้พัฒนาโรงเรียน ครู เพราะตอนนี้ยังมีโรงเรียนอีกหมื่นกว่าโรงที่มีครูแต่ไม่มีนักเรียนมาเรียน

“ที่ผ่านมาไทยสูญเสียเงินไปกับการศึกษาจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีนักการศึกษาที่เก่งๆ มากมาย แต่ผลลัพธ์ของการศึกษาที่ออกมายังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับหลายประเทศแม้แต่ในอาเซียน ขณะที่การแข่งขันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ต้องกลับมาดูว่าการพัฒนาครู จะทำอย่างไรให้คนดี เก่งมาเป็นครู และจูงใจให้ครูเก่งไปสอนในถิ่นทุรกันดาร ไม่ใช่กระจุกอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เพราะถ้าดูเด็กเก่งที่ไปคว้ารางวัลโอลิมปิก ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิต ถ้าเป็นอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยคือความไม่เท่าเทียบกัน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีเด็กที่ขาดโอกาสอย่างมากในระดับอนุบาล ทั้งที่เป็นวัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมองเด็กที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง”

ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้า และแข่งขันได้นั้น ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย กล่าวต่อว่า การปฏิรูปการศึกษา ต้องให้เด็กเป็นหัวใจ เป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาเด็กโดยสมบูรณ์ต้องพัฒนาทั้งมองด้านซ้ายและด้านขวา นั่นคือ การพัฒนาการคิดวิเคราะห์ คำนวณ การมีเหตุมีผล ควบคู่กับอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และที่สำคัญต้องพัฒนาจิตใจ ให้มีคุณธรรม จริยธรรม และทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการออกกำลังกาย ส่งเสริมให้นักเรียนออกกำลังกาย ซึ่งตนหวังว่าประเทศไทยคงไม่ยกเลิกวิชาพลศึกษา นอกจากนั้นต้องบูรณาการ ปฏิรูปครู โรงเรียน สื่อมวลชน และการเมืองเข้าด้วยกัน

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมของไทย แต่ปัจจุบันกลับมาแย้งอาณานิคมภายในประเทศกันเอง และเป็นประเทศที่ได้เปรียบหลายด้าน มีศักยภาพสูง ทั้งด้านที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ อาหารการกิน ความเป็นอยู่ ไอซีที การผลิต สินค้า แต่คนไทยกลับใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้ไม่เต็มที่ คนไทยใช้ไอซีทีไปกับเฟซบุ๊ก ไม่ได้ใช้เพื่อค้นคว้าหาความรู้ และนิสัยคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างญี่ปุ่น ถือได้ว่าคนไทยสนใจศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองน้อย ดูได้อย่างเวลาขึ้นรถไฟฟ้า เด็กไทยเล่นโทรศัพท์มือถือ สนใจเรื่องไอที แต่ไม่อ่านหนังสือ ขณะที่เด็กญี่ปุ่นอยู่ที่ไหนๆ เขาก็อ่านหนังสือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย เด็กไทยให้หันมาอ่านหนังสือ ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมทักษะแก่ตัวเอง”

อีก 3 ปีประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย บอกว่า ไทยต้องเตรียมเด็กรุ่นใหม่ ให้รู้จักวิธีการเรียน ไม่ใช่รู้เฉพาะเนื้อหาที่เรียน เพราะโลกโลกาภิวัตน์ เนื้อหาสาระที่เรียนไปนั้น อีก 2 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ การรู้จักวิธีเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อมีปัญหาก็สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ จะทำให้เด็กไทยอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนั้น ยังต้องใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จะผิดหวังกับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของเด็กไทยที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ต้องมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพด้านภาษา จะมาอ้างว่าไทยไม่ได้เป็นอาณานิคมของใครไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศในอาเซียนมีความก้าวหน้ามาก อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ วิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณิตศาสตร์

ปัญหาการศึกษาไทยแม้มีช่องโหว่มากมาย แต่หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ปฏิรูปยกแพง และทำแบบจริงจัง ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย เชื่อว่า ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาสำเร็จแต่อาจจะใช้เวลานาน เพราะการพัฒนาการศึกษา ต้องเริ่มมาจากการบูรณาการ การเมือง สังคม และการเตรียมกำลังคน ทรัพยากร และใช้ชีวภาพที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

โลกอนาคต แต่ละประเทศเปิดกว้างมากขึ้น เชื่อมโยงกันมากขึ้น การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่การสอนของครู ครูต้องเอาใจใส่ คิดค้นเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลาย สอนให้เด็กคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยครูต้องใช้ความรัก ความจริงใจควบคู่ไปกับการสอน ขณะที่โรงเรียน ผู้บริหาร ต้องเปลี่ยนวิธีคิด การศึกษาไทยต้องเป็นคุณธรรมนำความรู้ เพื่อให้เด็กไทยอยู่รอด และสังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น

บทความโดย ชุลีพร อร่ามเนตร นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: