วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทีมนักเรียนจาก โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ได้รับ รางวัลใหญ่จาก'อินเทลไอเซฟ'

การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล หรือ อินเทล ไอเซฟการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่อีกปีสำหรับเยาวชนไทย เพราะเป็นปีที่ทีมเด็กไทยกวาดรางวัลใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งของงานมาได้ นั่นคือรางวัล "อินเทล ฟาวเดชั่นยัง ไซเอนทิสต์ อวอร์ดส์"หรือรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของมูลนิธิอินเทล ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่อันดับ 2 ของการจัดงานซึ่งจะได้รับทุนการศึกษา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังได้รับรางวัลอันดับ 1 จากสาขาบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังได้เป็นรางวัลดีที่สุดในสาขานี้อีกด้วย

โดยทีมน้องๆ ที่ได้รางวัลใหญ่ครั้งนี้ เป็นทีมนักเรียนจาก โรงเรียนสุราษฎร์พิทยาจ.สุราษฎร์ธานีจากโครงงาน "ECO Plastic พลาสติคจากเกล็ดปลา"ซึ่งเป็นฝีมือการพัฒนาของทีมงานที่ประกอบด้วย นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ, นางสาวอารดา สังขนิตย์และ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นางสุวารีพงศ์ธีระวรรณที่ทำการวิจัยเรื่องการสกัดเจลาตินจากเกล็ดปลาและนำมาผลิตพลาสติคบรรจุอาหาร ซึ่งเป็นโครงงานที่สามารถนำมาปรับใช้งานได้จริง และเป็นประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ก็ยังมีทีมนักเรียนไทยอีกทีมหนึ่ง ได้แก่ นายนรินธเดชเจริญสมบัติ นายธนทรัพย์ ก้อนมณีและนางสาววรดา จันทร์มุข จาก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับรางวัลแกรนด์ อวอร์ด อันดับที่ 4 ในสาขาวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมชีวเวช พร้อมได้รับทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐ จากโครงงานการนำผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว

ต้องขอปรบมือดังๆ ให้กับน้องๆ ระดับมัธยมที่สามารถไปกวาดรางวัลอันทรงคุณค่ามาได้นอกเหนือจากความภาคภูมิใจแล้ว ก็ยังมีประสบการณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ระดับโลกกับประสบการณ์ในการพบปะเพื่อนใหม่จากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่งเหมือนทุกๆ ปี แต่น้องๆ ที่ไปร่วมแข่งขันแล้วไม่ได้รางวัลกลับมาก็อย่าได้เสียใจ เพราะจริงๆ แล้วน้องๆ ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนของเด็กนักเรียนไทย ไปร่วมในการแข่งขันระดับโลก และแม้จะไม่ได้รางวัล แต่ก็ได้ประสบการณ์อย่างที่หลายคนไม่เคยได้รับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ได้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กไทยมาทุกปี นั่นคือ เรื่อง"ภาษา"เพราะน้องๆ ที่ร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงปัญหาของเด็กไทยที่ไปร่วมแข่งขัน คือ การสื่อสาร เพราะแม้จะมีการเข้าคอร์สฝึกภาษาอังกฤษเพื่อนำเสนอโครงงานให้แก่คณะกรรมการแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาบ้างในการฟังและตอบปัญหา เนื่องจากผู้เข้าชมงานนั้นมาจากทั่วโลก และสื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน คือภาษาอังกฤษ ซึ่งน้องๆ ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเด็กไทยที่มาร่วมแข่งขัน

แต่แม้ว่าจะตอบคำถามได้บ้าง ไม่ได้บ้างที่สุดแล้ว เมื่อโครงงานดีพอ และเด็กๆ มีความเชื่อมั่นในการนำเสนอ ก็ได้กลายเป็นที่มาของการได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งน้องๆ ในทีมจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยาบอกว่า คิดว่ากรรมการน่าจะชอบในผลงานวิจัยที่ใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นแล้วนำมาทำให้เกิดคุณค่าขึ้นกับคนทั่วโลกสามารถทดลองได้ในโรงเรียน พร้อมกับฝากบอกน้องๆ คนอื่นๆ ที่สนใจในโครงงานวิทยาศาสตร์ว่า ถ้าชอบให้ลงมือทำไปให้ถึงที่สุด ให้หาทางต่อไป "แม้จะเจอทางตัน ก็ต้องหาวิธีการหาข้อมูลเพื่อแก้ไขต่อไป" จริงๆ แล้ว ทีมน้องๆ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยานี้ เคยมาแข่งและได้รับรางวัลอันดับ 4 มาแล้ว และได้กลับไปปรับปรุงพัฒนากลับมาแข่งอีกครั้งจนได้รางวัลใหญ่ในที่สุด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างแท้จริง การส่งตัวแทนเด็กไทยไปแข่งขันงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) กับศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมกันคัดเลือกเด็กไทยเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในงานนี้รองศาสตราจารย์ ดร.สายวรุฬ ชัยวาสนิชศิริจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นการได้รับรางวัลสูงสุดเท่าที่เคยได้มา ซึ่งถือว่าเกินความคาดหวังมากและยินดีกับความสำเร็จของทีมนักเรียนไทย อย่างไรก็ตาม ก็อยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ที่จะสามารถมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็ก ให้ร่วมกันช่วยพัฒนาเด็กไทยอย่างจริงจัง เพราะวิทยาศาสตร์บ้านเราถือว่ายังด้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆร่วมมือกันพัฒนาและจัดเวทีให้เด็กได้ประลองฝีมือ แต่ที่สำคัญที่สุด ดร.สายวรุฬกล่าวว่า เด็กเองก็ต้องมีใจรัก บวกกับการได้รับการส่งเสริมทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน รวมทั้งภาครัฐ ที่ต้องร่วมมือกันให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาเด็กไทยต่อไป

เวทีอินเทล ไอเซฟ อาจจะเพียงแค่เวทีหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเวทีสำหรับแสดงออกซึ่งความสามารถด้านต่างๆ อีกมากมายให้เยาวชนไทยได้แสดงออกซึ่งความสามารถดังนั้น น้องๆ ทั้งหลาย ก็อย่ามัวแต่รีรอ กล้าคิดกล้าทำในเรื่องดีๆ ประเทศชาติยังต้องการคนเก่งอีกมาก มาร่วมสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยกันเถอะ

ศรีสกุล ลีลาพีระพันธ์ นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: