วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรงเรียนขนาดเล็ก : ความท้าทายของสังคมไทย

ภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คือการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมให้ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียน ซึ่งมีจำนวนนับสามหมื่นโรงเรียนสามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้ได้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่มีอยู่

สพฐ. จึงขอนำเสนอข้อมูล หลักการ แนวคิดเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจในสิ่งที่กระทรวงศึกษาฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเด็นร้อนในขณะนี้คือการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็ก หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมาสภาพปัญหาและความท้าทายที่ สพฐ. ประสบอยู่คือการมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถสะท้อนถึงคุณภาพ และประสิทธิภาพการจัดการศึกษาได้ กล่าวคือ พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนมากถึง 14,397 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 45.82 โดยให้บริการนักเรียนเพียงร้อยละ 12.42 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด (ปีการศึกษา 2553) และจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มจำนวนสูงขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากอัตราการเกิดลดลงปีละประมาณ 200,000 คน และความนิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนคุณภาพที่ตั้งอยู่ในเมืองสภาพปัญหาและข้อจำกัดของโรงเรียนขนาดเล็กที่สำคัญ คือ
1. ครูไม่ครบชั้น ในโรงเรียน 7,280 โรง เนื่องจากนักเรียนมีจำนวนน้อยมาก รัฐจึงไม่สามารถจัดครูได้ครบชั้น เช่น โรงเรียน ก. มีนักเรียน20 คน เปิดสอน 8 ชั้นเรียน ตั้งแต่อนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 รัฐไม่สามารถจัดครูได้ 8 คนสำหรับ 8 ห้องเรียน (บางห้องเรียนมีเด็ก 1-2 คน)แต่จัดครูได้ตามเกณฑ์ คือ 1 คน และผู้บริหารโรงเรียน 1 คน แต่ละเดือนรัฐต้องจ่ายเงินเดือนละประมาณ 7 หมื่นบาทสำหรับดูแลนักเรียนเพียง 20 คน
2. ขณะที่เงินเดือนครูมีอัตราสูง ทั้งยังมีเงินค่าวิทยฐานะ รัฐจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราครูต่อนักเรียนที่ควรมีอัตราสูงอย่างเหมาะสม แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีอัตราครูต่อนักเรียนต่ำโดยเฉลี่ยในภาพรวมทั้งประเทศคือครู 1 คนต่อนักเรียน 12 คน โดยบางโรงเรียนมีครูต่อนักเรียนต่ำมากเพียง 1 ต่อ 3 ดังนั้น รัฐจึงมีค่าใช้จ่ายด้านเงินค่าตอบแทนครูในโรงเรียนขนาดเล็กสูงมากหากคิดค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อปีอาจสูงกว่าการผลิตนักศึกษาแพทย์ด้วยซ้ำ
3. โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถปฏิบัติงานด้านการพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างน่าพึงพอใจ (รวมถึงโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปัญหาผลการประเมิน ONET ต่ำกันทั้งประเทศ)และไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน (สมศ..2548)

ระบบการบริหารจัดการโรงเรียนสมควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างชัดเจน นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งโดยหลักวิชาการถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ สพฐ. ประสงค์จะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กทั้งทางด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอนำเสนอหลักคิดต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดังนี้
1.รัฐไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมากมายที่จะจ้างครูได้ครบชั้นจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และมีสื่อวัสดุอุปกรณ์การเรียนทันสมัยให้โรงเรียนทุกโรงจำนวนกว่า 3 หมื่นกว่าโรงได้อย่างทั่วถึง
2.รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำจังหวัด โรงเรียนดีประจำอำเภอ และโรงเรียนดีประจำตำบลให้มีความพร้อมด้านการเรียนการสอน และครูดีอย่างครบครัน เพื่อให้มีโรงเรียนดีกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทอย่างทั่วถึง
3.การรวมโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันเพียง 1-2-3 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวก โดย สพฐ. สนับสนุนค่าพาหนะนักเรียนให้ตลอดปีการศึกษา โดยมีความคาดหวังสูงสุดคือเพื่อให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่ดีกว่าเดิมมีผลการเรียนสูงขึ้น และเพิ่มอัตราครูต่อนักเรียนทั้งนี้ สพฐ. จะไม่รวมโรงเรียนขนาดเล็กใดๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ ห่างไกลทุรกันดาร และเสี่ยงภัย แม้ว่าจะมีนักเรียนเพียง 5-10 คน และการดำเนินการของ สพฐ. ดังกล่าว ได้รับการสอบทาน และเห็นชอบจากกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร

รัฐจำเป็นต้องดูแลโรงเรียนนับสามหมื่นโรงในเชิงระบบซึ่งต้องมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ สังคมไทยพึงใช้วิจารณญาณอันสุจริตในการพิจารณาประเด็นการรวมโรงเรียน ซึ่งรัฐไม่มีเจตจำนงใดที่จะขัดกับเจตนารมณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพียงแต่สังคมควรต้องพินิจให้ลึกซึ้งว่า สิทธิและเสรีภาพนั้นควรอยู่ภายใต้หลักคิดด้านคุณภาพประสิทธิภาพทางการศึกษาและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ขอเรียนเน้นย้ำว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า
พ่อแม่ย่อมต้องการให้ลูกได้เรียน
ในโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพและทุกฝ่ายควรคำนึงถึงผลประโยชน์
ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

www.obec.go.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: