วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา

นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) วันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า การสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับบริการทางการศึกษาสามารถดำเนินการได้มากขึ้น แต่ยังต้องแก้ไขในเรื่องของ

๑. คุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพผู้เรียน ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ค่อนข้างต่ำ และมีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่อง การ ติดยาเสพติด ติดเกมคอมพิวเตอร์ ตั้งครรภ์ในวัยเรียน คุณภาพครูและผู้บริหาร การขาดแคลนครูในบางสาขาวิชาหรือบางพื้นที่ และได้รับการพัฒนาในเชิงวิชาการไม่เพียงพอ รวมทั้งด้านการบริหารจัดการที่ยังมีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานและสถานศึกษาได้อย่างเต็มที่ สถานศึกษายังไม่มีความเป็นอิสระ คล่องตัวในการบริหารจัดการ

๒. การขาดแคลนแรงงานคุณภาพในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง และการผลิตและพัฒนากำลังคนยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนแรงงานสายวิชาชีพ และกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า

๓. ความเสื่อมถอยด้านคุณธรรมจริยธรรม ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาการบริโภค หรือใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย สื่อส่วนใหญ่มุ่งเน้นความบันเทิง หรือธุรกิจ ขาดสื่อที่ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ของคนและประชาชน ๔.การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้แข่งขันได้ ทำให้การเคลื่อนย้ายทั้งเทคโนโลยี และแรงงานที่มีคุณภาพ ทักษะฝีมือสูงตามมา ย่อมส่งผลต่อการมีงานทำ และคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต

๕. การวิจัยและพัฒนาสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาตนเอง ยังทำได้น้อย การส่งเสริมสนับสนุนยังไม่เพียงพอ ยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สิ่งท้าทายการพัฒนาการศึกษา คือการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา - ข่าวสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น: