วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รมว.ศธ.พบสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย

นายอำนาจ สุนทรธรรม ประธานเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทน ส.ค.ท. กล่าวว่า ส.ค.ท.เป็นองค์กรเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ๔ ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูภาคกลาง สมาพันธ์ครูภาคใต้ และชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดระดมความคิดเห็นเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการศึกษาชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพลเมืองไทย โดยมีข้อเสนอทางการศึกษาใน ๗ ประเด็น เพื่อนำเสนอ รมว.ศธ.ดังนี้

การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้เสนอให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

การกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างแท้จริง โดยได้ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา โดยให้มี พ.ร.บ.สถานศึกษารองรับ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการกระจายอำนาจ รวมทั้งทบทวนบทบาทของ สมศ. และ สทศ.ในการประเมินสถานศึกษาภายนอกด้วย

การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีข้อเสนอให้รัฐต้องให้บริการด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกเลิกการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

การจัดตั้งทบวงการศึกษาภาคบังคับ ให้ทุกโรงเรียนเปิดการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี จัดสรรครูและบุคลากรให้ครบทุกกลุ่มสาระ อุดหนุนงบประมาณรายหัวโดยอิงหลักงบประมาณที่ใช้ในการศึกษาอย่างแท้จริง และจัดโครงสร้างการบริหารที่ยึดหลักการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา

การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๖๓

การสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ให้ประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรครู รณรงค์ ส่งเสริมสนับสนุนการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเสนอให้มีหลักเกณฑ์การประเมินที่คำนึงถึงตัวผู้เรียน มาตรฐานการประเมินที่ไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์การวิจัย โดยครูที่ผ่าน E-Training ควรจะได้รับการเติมเต็มและต้องผ่านการประเมินด้วย

รมว.ศธ. กล่าวภายหลังรับมอบข้อเสนอดังกล่าวว่า ได้มองระบบการจัดการศึกษา เพื่อสร้างระบบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ สร้างเด็กให้รับผิดชอบต่อสังคม มีวินัยต่อตนเองและสังคม การจัดการศึกษาจึงต้องมองการศึกษาที่ให้คนมีงานทำ โดยพยายามผลักดันการศึกษาให้เป็นจังหวัดต่อจังหวัด โดยพิจารณาว่าจังหวัดนั้นๆ มีศักยภาพอะไรบ้าง เช่น จ.แพร่ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติไม้สัก สามารถปลูกข้าวได้ มีวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ซึ่งถือเป็นศักยภาพของพื้นที่ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาการศึกษายังไม่ได้ตอบรับในเรื่องนี้ เด็กนักเรียนจบการศึกษาแล้ว ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำงานอะไรในพื้นที่จังหวัดของตนเองหากไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง และในปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง ๑๐ ประเทศในอาเซียนจะมีการค้าเป็นเสรี จึงตั้งคำถามว่าศักยภาพของเราพอไหม เพราะในขณะที่จีนมาสามารถส่งสินค้าเข้ามาขายในบ้านเรามากมาย แต่เรากลับส่งออกไปขายได้ยากมาก บางครั้งถูกกดสินค้าราคาด้านการเกษตร ดังนั้นหากองค์ความรู้ในศักยภาพของแต่ละจังหวัดไม่ได้รับการพัฒนา หรือวันใดที่ทรัพยากรธรรมชาติหมดลง เราก็จะแย่ลงและจนลง

สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างองค์ความรู้ให้เข้าไปในจังหวัด ให้ศักยภาพภายในจังหวัดก่อให้เกิดรายได้ สามารถแข่งขันได้ทั่วโลก มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีงานวิจัย จึงไม่ควรเก็บงานวิจัย แต่จะต้องถ่ายทอดออกมา ต้องลงไปรับผิดชอบในลักษณะจังหวัดต่อจังหวัด และถึงแม้จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศก็จำเป็นต้องทำ หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศลงไปช่วยพัฒนาคน หรือช่วยให้เกิดการแปรรูปสินค้าเกษตร ในขณะเดียวกัน ศธ.มีบุคลากรในระบบมากที่สุด แต่ที่ผ่านมายังใช้ศักยภาพบุคลากรได้ไม่เต็มที่ ต่อไปการอาชีวศึกษาจะเข้าไปจับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาจมีหลักสูตรทางการเกษตร โรงเรียนบางแห่งอาจจะต้องมีไซโล ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนเป็นระบบเศรษฐกิจเล็กในระบบเศรษฐกิจใหญ่

สำหรับข้อเสนอต่างๆ นั้น รมว.ศธ.ได้กล่าวสรุปในประเด็นต่างๆ ดังนี้

หนี้สินครู จะมีหน่วยงานเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ เพื่อให้ครูมีรายได้ที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเงินเดือนเท่านั้น เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เพิ่มเท่าไรก็ไม่เพียงพอ แต่จะมีแนวทางในการเพิ่มระบบเศรษฐกิจ โดยจะนำกลไกต่างๆ ของ ศธ.เข้าไปดูแล

โรงเรียนขนาดเล็ก มีแนวคิดจะขอไปดูสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งในขั้นต้นอาจจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยสอนในโรงเรียนประถม-มัธยมก็ได้ แต่สำคัญคือ จะดูการประเมินของครู โดยเน้นความพึงพอใจของผู้เรียนเป็นหลัก หากผู้ปกครองบอกครูคนนี้ดี นั่นเป็นกลไกที่สำคัญของการวัดประเมินผลครูผู้สอน โดยการประเมินสถานศึกษาจะไม่ดูที่ขนาดโรงเรียน หรือจำนวนนักเรียน

ปรับเกณฑ์ประเมินที่เน้นความพึงพอใจของผู้เรียนและผู้ปกครอง ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในประเด็นการลงโทษนักเรียนอย่างรุนแรง เพราะโรงเรียนต้องคิดว่าเมื่อรับลูกหลานของผู้ปกครอง ที่ส่งเข้ามาศึกษาเรียนรู้และเลี้ยงดูในโรงเรียนแล้ว หากมีเด็กนักเรียนทำผิด เราต้องพยายามแก้ไข ไม่ใช้การลงโทษรุนแรง เช่น เอาเด็กออกจากโรงเรียน หรือย้ายเด็กไปเรียนที่อื่น ครูจึงต้องเข้าใจธรรมชาติว่าเด็กก็คือเด็ก ซึ่งมีโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดได้ จึงต้องการให้ ศธ.มีการปรับเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะของครูใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพและความพึงพอใจของผู้เรียนและผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ ครูไม่ต้องมาจัดทำผลงานเอกสารจำนวนมากมาย พร้อมทั้งจะจัดให้มีรูปแบบการเพิ่มค่าตอบแทนให้ครูในการดูแลเด็กให้ดีที่สุดด้วย

หลักสูตร จะมีการปรับปรุงให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดมากยิ่งขึ้น เช่น ด้านคำนวณ เด็กที่สนใจจะไปอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ หรือกลุ่มสร้างสรรค์ เด็กที่สนใจจะไปเรียนทางด้านดนตรี เทคโนโลยี ภาพยนตร์ ซึ่งขณะนี้เติบโตเป็นอย่างมากในต่างประเทศ เราจึงต้องเปิดกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาในโรงเรียน นอกจากนี้ในเรื่องธุรกิจการค้า ควรให้เด็กเริ่มเรียนและมีประสบการณ์ธุรกิจในโรงเรียน กำไรหรือขาดทุนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องให้เด็กฝึกคิดนอกกรอบแทนที่จะเรียนแต่ในตำรา ซึ่งจะช่วยสร้างสมองเด็กด้าน Creative ได้ดีขึ้น

คุณภาพทางการศึกษา โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา-ประถมศึกษา และเมื่อแยกอาชีพเป็น ๕ กลุ่มแล้ว เด็กก็จะได้เรียนในสาขาที่ตนเองถนัดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นด้วย

ภารกิจของครู หากมีการแจก Tablet PC แล้ว ครูจะได้รับแจกเช่นกันด้วย เพื่อช่วยกระบวนการทำงานของครูและผู้บริหารได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องทำรายงานเอกสารจำนวนมาก และจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานลง รวมทั้งจะหาวิธีการในการใช้เอกสารลดลงด้วย

ปัญหาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครูที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากครอบครัวครูผู้เสียชีวิตจะได้รับการดูแล รวมทั้งให้ทายาทได้รับทุนการศึกษาและมีความก้าวหน้าในด้านการงานที่มั่นคงแล้ว จะเข้าไปดูแลสวัสดิการต่างๆ ให้มากขึ้น

รมว.ศธ.กล่าวภายหลังถึงประเด็นการแจก Tablet ด้วยว่า iPad ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ของ Tablet และมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ ๙๐ หลังจากนั้นมีระบบแอนดรอยด์ (Android) เข้ามา ซึ่งเป็นระบบเปิด ทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปพัฒนาได้ ส่งผลให้ตัวเครื่องมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ในส่วนของ ศธ.นอกจากจะแจกให้นักเรียนในโรงเรียนหรือชั้นเรียนที่มีความพร้อมแล้ว ต้องแจกให้ครูเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการ และใช้เป็นเครื่องมือในการสอนนักเรียนด้วย โดยหนังสือเรียนก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ สำหรับสเป็คเครื่องในแต่ระดับชั้นเรียนอาจจะแตกต่างกันไป โดยระดับชั้นที่สูงอาจจะต้องใช้สเป็คที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ ศธ. กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะต้องหารือในรายละเอียด สเป็ค ระบบโครงข่าย และแอพพลิเคชั่นร่วมกันต่อไป

ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: