วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการ

รมว.ศธ. พร้อมด้วยผู้บริหาร ๕ องค์กรหลักได้แถลงข่าวภายหลังการประชุม โดย รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้หารือกับสำนักงบประมาณ ถึงรูปแบบการบริหารงานแบบบูรณาการ เพื่อให้ทิศทางการทำงานและบริหารงบประมาณสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น ศธ.จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สอดคล้องกับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก โดยการประชุมครั้งนี้ได้หารือหลายเรื่องทั้งการทำงานที่ให้มหาวิทยาลัยลงไปรับผิดชอบจัดทำหลักสูตรในแต่ละพื้นที่คือจังหวัดต่อจังหวัด โดยมีเป้าหมายจะจัดการศึกษาตามศักยภาพของจังหวัดเป็นหลัก

การประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการบูรณาการแผนและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ" มี รมว.ศธ.เป็นประธาน เพื่อดูภาพรวมทั้งหมดในการขับเคลื่อนการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยจะเป็นองคาพยพเดียวกันในการขับเคลื่อนการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณปี ๒๕๕๕ จะเน้นตามยุทธศาสตร์ของ ศธ. บางส่วนอาจบริหารจากส่วนกลาง บางส่วนอาจบริหารจากพื้นที่ ส่วนโครงการเดิมที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว อาจจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของ ศธ. ยกเว้นแผนงานโครงการเดิมที่จำเป็นต้องดำเนินการจริงๆ เท่านั้น

นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัด ศธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีความพร้อมในการขับเคลื่อนตามนโยบาย ศธ.ไว้แล้ว โดยในวันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ สป.ได้จัดประชุมในการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการไว้แล้ว โดยในส่วนของการขับเคลื่อนตามแผนและยุทธศาสตร์ของ ศธ.นั้น จะดำเนินการให้สอดคล้องกับเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี ๑๙ เขตตรวจ โดยให้เขตตรวจราชการเป็นสถานที่อำนวยความสะดวก ส่วนประธานกรรมการบริหารยุทธศาสตร์แต่ละเขตตรวจนั้น จะพิจารณาจากบุคคลใน ศธ.ทุกสังกัด รวมถึงบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้เรียบร้อยโดยเร็ว จากนั้นจะได้นำเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาแต่งตั้งต่อไป

นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า การบูรณาการภายใต้เป้าหมาย คือการสร้างคนให้สามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง เพราะที่ผ่านมาเราสร้างคนโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ครั้งนี้ ศธ.จะกำหนดเป้าหมายว่าเรามีทรัพยากรอะไร ศักยภาพมากน้อยเพียงใด จะทำอย่างไรที่สร้างคนให้มีศักยภาพสูงสุด และเมื่อเร็วๆ นี้ได้พบข้อมูลการวิจัยจากหน่วยงานแห่งหนึ่งที่ดำเนินการวิจัยให้ประเทศอินเดีย พบว่าสอดคล้องกับแนวความคิดตามยุทธศาสตร์ของ ศธ.ในขณะนี้ คือ การศึกษาทุกระดับจะไม่แยกส่วน การพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ต้องไม่แยกส่วนเช่นกัน โดยจะต้องดูทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ ทุกแห่งต้องเปลี่ยนแปลง โดยปรับหลักสูตรให้ทุกคนมีอาชีพ มีงานทำ แต่ในอินเดียพัฒนาพื้นที่ในระดับรัฐ ส่วนไทยนอกจากจะเน้นทำประโยชน์เพื่อพื้นที่แล้ว ยังก้าวไปในระดับประเทศและออกไปพัฒนาในระดับภูมิภาคด้วย

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า นโยบายของ ศธ.ยังสอดคล้องกับผลงานวิจัยที่ สพฐ.ได้ให้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัยการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ เพราะถึงเวลาที่จะต้องปฏิวัติคุณภาพการศึกษา โดยทำให้การศึกษามีความหมาย เป็นคำตอบที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ และเป็นความพยายามที่ผูกโยงการศึกษากับเศรษฐกิจ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าไม่ควรเน้นให้เด็กเข้าเรียนเพียงจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเตรียมความพร้อมมีอาชีพจนกระทั่งเด็กจบการศึกษา และเหตุผลสำคัญในการรณรงค์ไปเรียนสายอาชีพไม่สำเร็จ ก็เพราะต้องหล่อหลอมตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน โดยเฉพาะจะต้องเปลี่ยนทัศนคติของเด็กตั้งแต่ช่วงขั้นปีที่ ๑ เพื่อให้ทัศนคติค่อยๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นผลงานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกันที่จะต้องจัดการศึกษาแบบ Area Based ซึ่งส่วนกลางไม่ต้องสั่งการ แต่จะมาจากบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ สพฐ.จะจัดการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเร็วๆ นี้ เพื่อมอบภารกิจให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปสำรวจอาชีพของชุมชน และปรับวิธีการทำงานให้เชื่อมโยงกับการอุดมศึกษา การอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นโยบายของ ศธ.ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราจะเห็นการขับเคลื่อนการศึกษากับมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะไม่ทำให้เด็กจบมาแล้วเคว้งคว้างหรือไม่มีงานทำ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า งานวิจัยของ TDRI ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง Demand-Supply ระหว่างกลุ่มจังหวัดเสร็จแล้ว พบว่า หากมีกลไกในการขับเคลื่อน การจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อการจัดการศึกษาแบบ Area Based ให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพได้

นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ.ได้วิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาในสังกัดทั้ง ๔๑๖ แห่งแล้ว มีความพร้อมรับกับการทำงานเชิงบูรณาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัย การอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กที่จบไปแล้วมีอาชีพ มีงานทำ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาระดับอาชีวะที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว

ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: