วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

การประชาพิจารณ์เตรียมรับการเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน

วันที่ 30 สิงหาคม 2554 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดประชุมประชาพิจารณ์และนำเสนอผลการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เปรียบเสมือนเป็นประเทศเดียวกัน คือ การไม่มีกำแพงภาษีหรือข้อจำกัดต่างๆ แต่ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการทำข้อตกลงต่างๆ ประเทศไทยจะเสียเปรียบอยู่ตลอด จึงอยากให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบซึ่งจะขอให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะผู้รับผิดชอบ เพื่อมาศึกษาว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่ามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร ตลอดจนให้คณะกรรมการดังกล่าวจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยศึกษาถึงทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศ ประเพณี และภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละแห่ง โดยจะให้ทั้ง 5 องค์กรหลักบูรณาการการทำงานร่วมกัน และจัดองค์ความรู้ให้ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

ด้านศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ได้มอบหมายให้ รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เป็นผู้ดำเนินการวิจัยตามโครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการในการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันไปสู่ระดับสากลและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อนำเสนอผลการวิจัย ต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะนำมาปรับปรุงรายงานวิจัย และนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ คณะนักวิจัย กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้เพื่อประมวลผลและประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนากำลังคน โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งคนไทยและเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ทำงานในองค์กรที่ตั้งในประเทศไทยใน 7 สาขาอาชีพ เนื่องจากจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ซึ่งมีการลงนามจัดทำข้อตกลงร่วมกัน ได้แก่ วิศวกรรม นักสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักบัญชี ผลการวิจัยพบว่า ภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนไทย อีกทั้งเด็กไทยขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมถึงนโยบายของรับและกฎหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ชัดเจน ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะ อาทิ ควรจัดหลักสูตรให้ผู้เรียนได้รู้จักประเทศประชาคมอาเซียน เร่งรัดผลิตและพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ เร่งดำเนินการตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยสามารถสื่อสารกับประเทศประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะการสื่อสารภาษอังกฤษ เร่งรัดการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน วางระบบมาตรฐานวิชาชีพให้สอดรับกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพของอาเซียน เป็นต้น

ที่มา - ข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น: