วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การศึุกษามัธยมศึกษาอย่างมืออาชีพสู่ประชาคมอาเซียน


นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา "การจัดการศึุกษามัธยมศึกษาอย่างมืออาชีพสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.๒๕๕๘ (Inspiring Towards ASEAN 2015)" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว โดยมีผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ จำนวน ๒,๓๖๒ คน เข้าร่วมการประชุม

รมว.ศธ.กล่าวภายหลังรับชมการแสดงของนักเรียนโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนว่า เป็นการแสดงที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นของประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ไม่สามารถยืนอยู่ได้ตามลำพัง ดังนั้นประเทศสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศจะต้องรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงพลังมหาศาลในการโยกย้ายฐานการลงทุน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ พัฒนาระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคให้แข็งแกร่ง เสมือนเป็นประเทศเดียวกัน

ในส่วนของ ศธ.ต้องมีการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน ซึ่งเราไม่สามารถจะบริหารจัดการแบบแยกส่วนได้อีกต่อไป โดย ศธ.จะตัดสินใจกระจายงบประมาณ วิธีการทำงานลงไปในเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดำเนินการมากขึ้น ดังนั้นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในระดับพื้นที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่ เช่นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ฯลฯ จะต้องลงมาดูหลักสูตร องค์ความรู้ ที่จะถูกสร้างขึ้นจากคนและศักยภาพด้านต่างๆ ในเชียงใหม่ เช่น ทรัพยากรในพื้นที่ ความได้เปรียบของสภาพภูมิอากาศ อาทิ แสง ความชื้น สภาพภูมิประเทศที่เป็นเขา สามารถปลกพืชในที่สูงได้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามได้ รวมทั้งการคำนึงถึง Hospitality ที่เป็นจุดแข็งของเชียงใหม่และประเทศไทยด้วย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่แต่ละจังหวัดจะต้องนำไปพิจารณาวางแผน เพื่อจับมือกับกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดนั้นๆ พร้อมทั้งต้องเร่งปรับตัวด้านภาษาหรือการสื่อสารระหว่างกัน มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ทันสมัยทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ด้านอำนวยการ/อาชีพเฉพาะทาง หรือแม้แต่อุตสาหกรรมความคิดสร้า้้งสรรค์ ทางด้านดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดของ ศธ. ที่จะนำการศึกษาก้าวย่างลงไปในแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่อย่างแท้จริง เชื่อมั่นว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ยังขาดโอกาสหรือถูกครอบงำ ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ หรือกลัวจะทำผิดกรอบ หรือกลัวว่าส่วนกลางจะตำหนิ โดยตนจะเปลี่ยนแปลงให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศกล้าตัดสินใจ โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลางเท่านั้น แต่ต้องการเห็นพลังความคิด การระดมสมองจากประสบการณ์ของทุกคนในพื้นที่มาหล่อหลอมกัน ให้เกิดกลไกใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ใช่เรื่องการศึกษาอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคมด้วย โดย ศธ.จะเคารพการตัดสินใจจากคนในพื้นที่ หวังว่าภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ จะเห็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจับมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมั่นคงต่อไป

ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: