วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

“ทิศทางการศึกษาไทยกับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน”

รมว.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น ศธ.ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรดังกล่าวในทุกๆ ด้าน เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถเข้าสู่การเปิดเสรี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย ศธ.จะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ ให้เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ (Area Based) โดยแบ่งผู้เรียนเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ สายอาชีพ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และกลุ่มอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง และกลุ่มที่ ๒ สายสามัญ ที่มุ่งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การมีงานทำ และมีศักยภาพตรงตามความต้องการในการพัฒนาประเทศ

การเสวนา “ทิศทางการศึกษาไทย : กับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระตุ้นให้ประชาชนและสังคมตระหนักถึงแนวทางหรือทิศทางในการพัฒนาคนเพื่อให้เท่าทันต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์แนวทางความพร้อมและทิศทางการศึกษาก่อนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย

นอกจาก รมว.ศธ.จะปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ทิศทางการศึกษาไทยกับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้ข้าราชการ ศธ. ประชาชนผู้สนใจ ทราบถึงทิศทางการศึกษาในช่วงก่อนถึงการจัดตั้งประชาคมอาเซียนแล้ว ยังจัดให้มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องทิศทางการศึกษาไทยกับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตข้าราชการระดับสูงใน ศธ. รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ทั้งจากภาคเอกชนและธุรกิจ

การจัดตั้งประชาคมอาเซียน เกิดขึ้นภายหลังจากประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ได้มีมติร่วมกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน และเห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ต่อมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๐ ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งประชาคมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี ๒๕๕๘ ประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น และกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความร่วมมือ ๓ เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน ต้องเตรียมความพร้อมหลายด้านเพื่อรองรับการเปิดประเทศ และต้องให้ความร่วมมือกับประเทศภายในประชาคมอาเซียนด้วย

ดังนั้น การพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยเป็นความพร้อมหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องเป็นความพร้อมของคนไทยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชน ที่จะต้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมจะเดินไปด้วยกัน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: