วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

1 มิ.ย.56 ขอตั๋วครูต้องผ่านสอบวัดความรู้จากคุรุสภา

นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการเลขาธิการคุรุสภา (คุรุสภา) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่มีการเสนอแก้ไขข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยปรับแก้ให้ต่อไปผู้จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นจะต้องผ่านการสอบวัดความรู้จากสำนักงานคุรุสภา และต้องสอบผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่คุรุสภากำหนดจึงจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คุรุสภาจะออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ให้กับนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง และสภามหาวิทยาลัยรับรองการจบการศึกษา เมื่อมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อนักศึกษาที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมายังคุรุสภาก็จะทำการอนุมัติให้ทันที

ประธานคุรุสภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไปผู้ที่มาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภานั้น นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่เรียนในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง และสภามหาวิทยาลัยรับรองการจบการศึกษาแล้ว ก็จะต้องผ่านการสอบวัดความรู้จากคุรุสภาและมีผลการสอบแนบมาพร้อมการยื่นขอใบอนุญาต หากไม่มีทางคุรุสภาจะไม่พิจารณาให้ อย่างไรก็ตาม คุรุสภาได้กำหนดช่วงเวลาเปิดการสอบไว้ 2 ช่วง คือ ครั้งแรกในเดือน ก.ค.2555 และช่วงที่ 2 เดือน ม.ค.2556 ในส่วนของการออกข้อสอบนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำข้อสอบโดยข้อสอบจะเป็นแบบปรนัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีแนวคิดว่าในอนาคตผู้ที่จะขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น ซึ่งจะต้องต่อทุก 5 ปีนั้น ควรจะเข้าสู่กระบวนการประเมินสมรรถนะการสอนด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วย ครู ผู้ปกครอง เป็นต้น ที่จะทำหน้าที่ติดตามประเมินการสอนในชั้นเรียน ขณะเดียวกันก็จะให้มีการประเมินด้านคุณธรรม จริยธรรมด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีการประเมินอยู่แต่เครื่องมือที่ใช้ยังมีจุดอ่อนซึ่งจะไปหาวิธีการสร้างเครื่องมือที่สามารถประเมินได้เข้มข้นยิ่งขึ้น

“วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ดังนั้นเราก็ต้องทำให้มาตรฐานวิชาชีพครูมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเหมือนวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเพื่อความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีครู และผู้บริหารประมาณ 1 ล้านคน ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยในจำนวนนี้เป็นครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 403,000 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 100,000 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประมาณ 40,000 คน นอกจากนั้น อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแต่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอสอบบรรจุ รวมถึงกลุ่มที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุที่ยังขอต่อใบอนุญาตต่อเนื่อง” นายดิเรก กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: