วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

๑) การเชื่อมโลกการศึกษากับการเชื่อมโลกการทำงานเข้าด้วยกัน โดยให้สถาบันการศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา กับ ส.อ.ท. ร่วมกันดำเนินการ

รมว.ศธ. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ ศธ.ได้มีการพัฒนาหลักสูตรโดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น ๕ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มเกษตรกรรม สำหรับผู้ที่มีความถนัดในการเรียนทางด้านการเกษตร ๒) กลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับผู้ที่มีความถนัดทางด้านคำนวณ วิศวกรรม ๓) กลุ่มพาณิชยกรรม สำหรับผู้ที่มีความถนัดทางด้านการค้าขาย ภาษา ๔) กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ สำหรับผู้ที่มีความถนัดและชื่นชอบทางด้านภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง เกมส์ อนิเมชั่น (Animation) ๕) กลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องเข้ามาช่วยจัดทำหลักสูตรกับกลุ่มอุตสาหกรรมท้องถิ่นและร่วมทำงานกับคนพื้นที่

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นครูซึ่งแต่เดิมต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น ศธ.ก็จะปรับเกณฑ์ให้ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาชีพเข้าไปเป็นผู้สอนได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาเป็นครูมากขึ้น และแก้ปัญหาการขาดแคลนครูช่างด้วย นอกจากนี้ต้องการให้สภาอุตสาหกรรมกำหนดว่าต้องการให้เกิดหลักสูตรอะไรในแต่ละจังหวัด เพื่อเร่งจัดทำหลักสูตรให้เร็วขึ้น โดยเด็กจะได้เรียนปรับพื้นฐานสาขาเฉพาะทางตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ใช่การเรียนในเวลาเพียง ๑ หรือ ๒ ปีเท่านั้น

ในเรื่องของการทำงานในโรงเรียนนั้น การดำเนินงานสหกิจศึกษาหรือทวิภาคี ศธ.มีความพร้อมในเรื่องของสถานที่และการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างโรงเรียนในโรงงาน หรือการสร้างโรงงานในโรงเรียน โดยจะจัดเตรียมเครื่องมือให้เหมือนกับในโรงงานทุกประการ สำหรับการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์นั้น ขณะนี้ ศธ.ได้ให้ความสำคัญในส่วนของภาคทฤษฏีหรือพื้นฐานเพียงร้อยละ ๓๐ อีกร้อยละ ๗๐ ต้องเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการคือ มีผู้ร่วมวิจัย วิธีการวิจัย และผลกระทบในการทำวิจัยต่อสังคม ยืนยันว่า ศธ.มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล ดังนั้นหากทางภาคอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ฐานตรงนี้ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาการจัดทำหลักสูตรที่เชื่อมโยงโลกการศึกษากับโลกการทำงานเข้าด้วยกันรวดเร็วยิ่งขึ้น

๒) การประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อทำให้การศึกษามีคุณภาพ เกณฑ์ประเมินกับตัวชี้วัดต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพนักศึกษาและบัณฑิตจบแล้วมีงานทำ

ศธ.มีนโยบายในการประเมินคุณภาพของการศึกษาในด้านที่ว่าผู้เรียนจบแล้วมีงานทำหรือไม่ ซึ่งสถาบันการศึกษาจะได้รับทุนใน ๓ รูปแบบคือ ๑) ทุนงบประมาณ ๒) กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. ๓) กองทุนตั้งตัวได้ ในวงเงินประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ รวมทั้งกลไกของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษา เพื่อมุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นหากสถาบันการศึกษาใดผลิตเด็กออกมาแล้วทำงานไม่ได้หรือทำงานไม่ตรง ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลทำให้สถานศึกษานั้นก็จะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ นโยบายดังกล่าวเป็นการมองไปที่ศักยภาพกับความเป็นจริง ให้อิสระในการจัดการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา แต่ผลสุดท้ายที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้คือ ผู้เรียนต้องจบออกมาแล้วมีงานทำ โดยได้ฝาก ส.ท.อ.ช่วยสนับสนุนนโยบายนี้ด้วย

๓) การดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช.

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ โดยมีการติดตามและประเมินผลด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม สำหรับด้านการดำเนินงานของ สคช. มีความเห็นว่ายังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร โดยจะขอศึกษารายละเอียดในภายหลัง

๔) ผลักดันการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาแบบกลุ่มจังหวัด (Area Based) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่

รมว.ศธ.กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า สอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการเน้นการจัดการศึกษาลงไปในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งเสนอให้สภาอุตสาหกรรมกำหนดหลักสูตรเฉพาะของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสมกับทรัพยากรและบุคลากรที่มี เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาต่อไปในอนาคต

๕) ข้อเสนอแนะการจัดโครงการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการ Tablet สำหรับนักเรียน

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องเนื้อหา (Content) ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตนั้นจะพิจารณาในต้นปี ๒๕๕๕ เนื่องจากเทคโนโลยีอาจก้าวไปไกลกว่าปัจจุบัน ในการดำเนินการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตนั้น อาจต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่มหรือระดับชั้นเรียน โดยจะมอบให้อาชีวศึกษาเข้ามาดูแลในการบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อไปด้วย

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: