วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔

รมช.ศธ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้เสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๔.๗ แสนล้านบาท และสำนักงบประมาณได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณแล้ว จำนวน ๔.๒๕ แสนล้านบาท แบ่งเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ๔.๔ หมื่นล้านบาท สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ๓๐๘ ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ๒.๗๒ แสนล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ๒.๒ หมื่นล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ๖ พันล้านบาท

ซึ่งในส่วนของ ศธ.ต้องถูกปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ ศธ.ถูกตัดงบประมาณไปจำนวน ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ เพราะขณะนี้ปัญหาอุทกภัยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเข้าสู่ ครม.เพราะฉะนั้นเมื่อ ครม.มีมติให้ตัดงบประมาณร้อยละ ๑๐ ศธ.จะต้องนำมาปรับตัวเลขงบประมาณใหม่ เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ

ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๓ ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

กำหนดให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕ ระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๙ และระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒

กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบและมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

กำหนดนิยามคำว่า “ปลัดกระทรวง” ให้หมายความรวมถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดทบวง และรองปลัดกระทรวงผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ “หัวหน้าส่วนราชการ” หมายความว่า อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมหัวหน้าส่วนราชการซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมแต่มีฐานะเป็นอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และให้หมายความรวมถึงเลขานุการรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานรัฐมนตรีด้วย

กำหนดให้ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการการเมืองและข้าราชการตำรวจ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น กรณีมีเหตุพิเศษซึ่งจะต้องวางหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลาแตกต่างจากที่ระเบียบกำหนด ให้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีกำหนดระเบียบเป็นการเฉพาะได้โดยให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

กำหนดให้ส่วนราชการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการเสนอใบลา อนุญาตให้ลาและยกเลิกวันลา สำหรับการลาป่วย ลาพักผ่อน หรือลากิจส่วนตัว

กำหนดให้ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาไปช่วยเหลือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่คลอดบุตรให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลาภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๑๕ วันทำการ

เพิ่มจำนวนวันลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งให้แก่ข้าราชการที่ไปประจำการในต่างประเทศในเมืองที่กำลังพัฒนาซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกากลาง เมืองที่มีความเป็นอยู่ยากลำบาก เมืองที่มีภาวะความเป็นอยู่ไม่ปกติ และเมืองที่มีสถานการณ์พิเศษอีก ๑๐ วันทำการ

กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลาของข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ

อนุมัติหลักการค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจะนำไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัย


ครม.อนุมัติหลักการเรื่อง ค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจะนำไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยตามแนวทางจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยเบื้องต้นให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ได้รับอนุมัติให้กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยขอตกลงโอนเปลี่ยนแปลงนำไปใช้จ่ายเพื่อการดังกล่าวตามความจำเป็นและเหมาะสมก่อน หากไม่เพียงพอก็ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ไปพลางก่อน ภายในกรอบวงเงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น: