วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แผนบริหารราชการฉุกเฉินรองรับสถานการณ์อุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ ของ ศธ.

การประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคมที่ผ่านมา นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ. ได้ขอให้ทุกหน่วยงานใน ศธ.ได้จัดทำแผนบริหารราชการฉุกเฉินฯ ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อวางแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในการอพยพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๔-๖ สัปดาห์ โดย ศธ.จะออกคำสั่งให้มีผู้รับผิดชอบและแนวทางการทำงานในการป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ รวม ๑๖ ด้านอย่างชัดเจน เน้นการทำงานเชิงบูรณาการ ซึ่งผู้รับผิดชอบสามารถสั่งการองค์กรหลักได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. การอพยพประชาชน มอบนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้รับผิดชอบหาสถานที่พักพิงที่ปลอดภัยจากเส้นทางการเดินทางของน้ำ เพื่อรองรับประชาชนในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า ๖ หมื่นคน เช่น ค่ายลูกเสือต่างๆ ใน จ.ชลบุรี สระบุรี ฯลฯ

๒. น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มอบนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่ในการจัดเตรียมเครื่องกรองน้ำ สำหรับดื่มและใช้ใ ห้เพียงพอรองรับกับจำนวนประชาชนในศูนย์พักพิงต่างๆ

๓. อาหาร มอบนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. รับผิดชอบ

๔. การขนส่ง มอบนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. รับผิดชอบ เพื่อจัดหาพาหนะในการขนส่งอาหาร น้ำ อุปกรณ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือแก่ประชาชน

๕. ไฟฟ้า มอบนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. รับผิดชอบ โดยให้สำรวจครูอาจารย์ นักศึกษาที่มีความรู้ความชำนาญการด้านระบบไฟฟ้าทุกสังกัด เช่น จากศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) หรือจากมหาวิทยาลัย สถานศึกษาต่างๆ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสั่งการให้สถานศึกษาและหน่วยงานทุกแห่งของ ศธ.ก่ออิฐบล็อกระดับสูง ๑.๕ เมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันมิเตอร์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นไฟ โดยไม่ได้เน้นความสวยงามในการก่อสร้าง

๖. การสื่อสาร มอบนายนิวัตร นาคะเวช รองปลัด ศธ. รับผิดชอบดูแลควบคุมระบบการติดต่อสื่อสารของ ศธ.ทั้งระบบ เช่น ทีวี วิทยุ เครื่องมือสื่อสารต่างๆ

๗. การรักษาพยาบาล มอบ ศ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบ

๘. การดูแลสัตว์เลี้ยง มอบ ศ.มงคล เตชะกำพุ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

๙. การดูแลรักษาทรัพย์สินของประชาชน มอบนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. รับผิดชอบดูแลโรงแรมที่พักของสถานศึกษาในสังกัด เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้เป็นที่พักแก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากไม่กล้าทิ้งบ้านของตนเอง แต่เมื่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จะทำให้การเข้าไปช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงจำเป็นต้องวางแผนการดูแลทรัพย์สินของประชาชนให้มีความปลอดภัย

๑๐. การทำพนังกั้นน้ำ มอบนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. รับผิดชอบในการขอกำลังนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทุกระดับเข้าไปช่วยเหลือในการจัดทำพนังกั้นน้ำแก่หน่วยงานราชการต่างๆ หรืออศูนย์พักพิง

๑๑. เครื่องสูบน้ำ มอบนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. รับผิดชอบ

๑๒. การฝึกอาชีพ กิจกรรมนันทนาการ มอบผู้รับผิดชอบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับผิดชอบในการฟื้นฟูอาชีพแก่ประชาชนภายหลังน้ำลด

๑๓. การเงินและงบประมาณ มอบนายนิวัตร นาคะเวช รองปลัด ศธ. ดูภาพรวมของทุกหน่วยงาน

๑๔. สุขา ห้องน้ำ มอบนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. รับผิดชอบ

๑๕. การส่งข่าวสารผ่านระบบ Social Network ทั้งระบบ มอบผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับผิดชอบ

๑๖. ขยะ และการดูแลทำความสะอาด มอบนายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการ กช. รับผิดชอบ

สำหรับการเลื่อนเปิดภาคเรียนสถานศึกษาทุกสังกัดใน ๑๒ จังหวัดเป็นวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ส่วนจะปิดมากกว่า ๑๒ จังหวัดหรือไม่นั้น ศธ.จะติดตามสถานการณ์และสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ในส่วนของการระดมครูจากทั่วประเทศ กศน. ๑,๐๐๐ คน เพื่อเป็นอาสาสมัครของ ศธ.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยยกของและขนย้ายของใน ศธ. รวมทั้งช่วยประชาชนในการเคลื่อนย้ายประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ศธ.จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะปกติเรียบร้อย

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: