วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปลัด.ศธ.กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมยูเนสโก

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯแห่งสหประชาชาติ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ ๓๖ ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อยูเนสโก ในนามของรัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ของประเทศไทย จนส่งผลกระทบต่อการศึกษาและมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินสูญหาย ธุรกิจ วิถีชีวิต รวมถึงสถานศึกษาและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตกว่า ๓๐๐ คนและผู้ได้รับผลกระทบกว่า ๒,๘๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง ๑ ใน ๔ และยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เมื่อใด ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกะทรวงศึกษาธิการของไทยต้องติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการให้ความช่วยเหลือและวางแผนการฟื้นฟู ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ได้ จึงมอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ปฏิบัติหน้าที่แทน ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีสถานศึกษาได้รับความเสียหายประมาณ ๓,๕๐๐ แห่ง มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ ๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องสร้าง ซ่อมแซมอาคารเรียน โครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน การจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ทั้ง นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือไปยังสถานศึกษาที่ประสบภัยแล้ว และยังจัดให้มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในช่วงระหว่างการฟื้นฟูอีก ด้วย ตนขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณประเทศต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือและขอบคุณยูเนสโกที่ได้ช่วยป้องกันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม รวมทั้งขอถือโอกาสนี้เชิญชวนอาสาสมัครจากทุกประเทศทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือตามแผนการฟื้นฟูประเทศไทย ในการสร้าง ซ่อมแซมสถานศึกษาหรือการช่วยผลิตอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงช่วงเวลาที่มีความหมายต่อประชาชนชาวไทยทุกคน เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของประชาชนใน ประเทศ และได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในบางประเทศของทวีปแอฟริกาตามโครงการความร่วมมือ ของประเทศกำลังพัฒนา จากการ เลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นสุภาพสตรี ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างความเข้มแข็งและ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคและความยุติธรรม การศึกษาเพื่อการมีงานทำเป็นแนวทางหนึ่งของการลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนและเป็นการสร้างความมั่นคงของการมีรายได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศยุทธศาสตร์ ๒๕๕๕ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา รองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ภายใต้กรอบเวลา ๒ ปี ให้สามารถพัฒนา ๕ ศักยภาพของพื้นที่ ใน ๕ กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์และอาชีพเฉพาะทาง ให้ สามารถแข่งขันได้ใน ๕ ภูมิภาคของโลก จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเราควร ให้ความสำคัญในเรื่องสมุทรศาสตร์ การบริหารจัดการ การปกป้องมหาสมุทรและชายฝั่ง ตามที่ปรากฎในวาระการประชุมคณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ของยูเนสโก และขอให้ประเทศสมาชิกได้มีการผลักดันในเรื่องนี้ด้วย นอก จากนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรี ศึกษาแห่งเอเชียและแปซิฟิกในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพมหานคร และ ขอยืนยันว่าประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับยูเนสโกอย่างเต็ม ที่ โดยเฉพาะการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงานร่วมกับสำนักงานยูเนสโกที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์ภูมิภาคหนึ่งของสหประชาชาติในเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้เกิดการ พัฒนาไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการสื่อสารต่อไป

ที่มา - ข่าวสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น: