วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นายวรวัจน์เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้มีแนวคิดให้ปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ จากเดิมที่มี 42 เขต จะให้ปรับโดยยึดเขตจังหวัดแทน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งขณะนี้นายวรวัจน์ได้สั่งการให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปดำเนินการแล้ว

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้มอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (ก.พ.ร) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ไปศึกษาว่าจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาจะออกแบบอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ จากนั้นจะสรุปข้อมูลและข้อเสนอให้ที่ประชุม กพฐ. และที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.)พิจารณาตามลำดับ ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาโดยตอนนี้ สพฐ.จะต้องพิจารณาโดยยึดหลักที่ว่าจะทำอย่างไรให้การบริหารงานในเขตพื้นที่การศึกษามีประสิทธิภาพโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่าย ไม่เพิ่มบุคลากร แต่มีเขตพื้นที่การศึกษาที่เพียงพอในการปฏิบัติงาน เพราะปัญหาของการมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่คร่อมจังหวัด ได้ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่าง คือ โรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ดังนั้น จะตั้งประเด็นนี้ไปพิจารณาในการปรับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า หากจะมีการปรับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามเขตจังหวัดนั้น อาจจะเพิ่มเฉพาะตำแหน่งของผู้อำนวยการสพม.เท่านั้น ส่วนบุคลากรใน สพม.นั้น อาจจะเกลี่ยหรือกระจายออกไปใน สพม.ใหม่ ทั้งนี้
สาเหตุที่นายวรวัจน์มีแนวคิดดังกล่าวเพราะว่าดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่คร่อมจังหวัดที่มีอยู่จำนวนมาก ส่วนกรณีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ทั่วประเทศนั้น หากมีการพิจารณาทบทวน สพม.แล้ว ก็ต้องพิจารณากันใหม่เช่นเดียวกัน

ด้านนายธวัชชัย พิกุลแก้วผู้อำนวยการ สพป.กาญจนบุรี เขต 4 ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายวรวัจน์ ที่จะให้ปรับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามเขตจังหวัด เพราะเคยเสนอแนวคิดนี้มาแล้วในสมัยที่มีการจัดตั้งเขตพื้นที่ศึกษามัธยมศึกษาในช่วงแรก ซึ่งการยึดเขตจังหวัดนั้นจะสะดวกในการบริหารจัดการและยังสะดวกกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในการติดต่อกับ สพม. เพราะในปัจจุบันหลายจังหวัดไม่มีสพม.ตั้งอยู่ เวลาติดต่อราชการต้องเดินทางไปอีกจังหวัดหนึ่ง ส่วน สพป.นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ไม่ควรจะปรับอะไรใหม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: