วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มติ ครม. ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔

กำหนดวันหยุดราชการในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ

ครม.พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการสัญจรของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีมติให้วันที่ ๒๗-๒๘ และวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง โดยยกเว้นดังนี้
๑) ข้าราชการตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักขึ้นไป
๒) ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้ประสบอุทกภัย
๓) รัฐวิสาหกิจที่ต้องปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมขนส่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น

กรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือราชการสำคัญในวันดังกล่าวโดยกำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว หากยกเลิกหรือเลื่อนไป จะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและประชาชน นอกจากนี้ ได้เห็นชอบในหลักการให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ประสบปัญหาอุทกภัยเลื่อนวันเปิดเรียนในภาคการศึกษาที่ ๒ ไปเป็นวันอังคารที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับรายชื่อจังหวัดที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง รวม ๒๑ จังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม กำแพงเพชร ตาก และกรุงเทพมหานคร

ในส่วนของการช่วยเหลือ ครู นักเรียน โรงเรียนนั้น ครม.ได้มีมาตรการโดยมอบหมายให้ ศธ. ไปจัดทำฐานข้อมูลความเสียหายของโรงเรียน ครู และเด็กนักเรียนที่ประสบอุทกภัย ส่วนการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยตรงเท่านั้น นอกจากนี้ให้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนและโรงเรียน โดยจัดหาปัจจัยพื้นฐานและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนในการเดินทาง จัดหาหนังสือและอุปกรณ์การเรียนทดแทนที่ชำรุดเสียหาย และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่วงเงินต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้กำหนดไว้ในระยะการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดแล้ว โดยสรุปคือ ๑) ให้ครูที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจำนวน ๒๑,๐๐๐ คน ได้รับสวัสดิการการกู้เงินจากกองทุน ก.ค.ศ. หรือ สกสค. ๒) พักชำระหนี้ผู้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ๓) ให้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยทั้ง ๓๔ จังหวัด ๔) ให้ความช่วยเหลือแก่ข้าราชการครู พนักงานราชการและลูกจ้างของกระทรวงศึกษาธิการที่ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้จำเป็นในวงเงินไม่เกิน ๓ ล้านบาท

เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน
ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. .... รวม ๒ ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้

๑) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. ....

- กำหนดให้ศูนย์การเรียนจัดการศึกษาได้เพียงสองระบบ คือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิจัดการศึกษา
- กำหนดวิธีการยื่นคำขอจัดตั้ง การพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง และข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการศูนย์การเรียน
- กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประกาศกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียน
- กำหนดให้มีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการออกหลักฐานการศึกษาแก่ผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการศึกษาจากศูนย์การเรียน
- กำหนดให้ศูนย์การเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชน
- กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้คำปรึกษา คำแนะนำและส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ และมีหน้าที่ในการจัดหาที่เรียนให้แก่ผู้เรียนเมื่อมีการเลิกศูนย์การเรียน
- กำหนดเหตุในการเลิกศูนย์การเรียน

๒) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. ....
- กำหนดให้องค์กรวิชาชีพมีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- กำหนดวิธีการยื่นคำขอจัดตั้ง การพิจารณาคำขอจัดตั้ง และข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการศูนย์การเรียน
- กำหนดให้มีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการออกหลักฐานแก่ผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการศึกษาจากศูนย์การเรียน
- กำหนดให้ศูนย์การเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน
- กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้คำปรึกษา คำแนะนำ และส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ และมีหน้าที่ในการจัดหาที่เรียนให้แก่ผู้เรียนเมื่อมีการเลิกศูนย์การเรียน
- กำหนดเหตุในการเลิกศูนย์การเรียน

เห็นชอบการลงนามในความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน
ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอคือ การลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน ระหว่างสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Agreement on Educational Cooperation between the Thailand Trade and Economic Office in Taipei and the Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) โดยให้หัวหน้าสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปเป็นผู้แทนฝ่ายไทยลงนามในความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวันร่วมกับผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย พร้อมทั้งให้ ศธ.เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในความตกลงดังกล่าวเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะไม่ทำให้สารัตถะในความตกลงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหน่วยรับผิดชอบการดำเนินการภายใต้ความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน

สาระสำคัญของความร่วมมือ กระทรวงการศึกษาไต้หวันได้มีการตกลงว่า จะให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแก่บุคลากรทางการศึกษาของไทยเป็นจำนวน ๖๐๐ ทุน ภายในระยะเวลา ๕ ปี ทุนการศึกษาในไต้หวันดังกล่าวจะครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทย รวมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และผู้รับทุนจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาไต้หวันมีความเข้มแข็งทางวิชาการ และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวฝ่ายไต้หวันจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการศึกษา ส่วนฝ่ายไทยจะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้รับทุน

ภายใต้หลักการ “จีนเดียว” ประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่อย่างไรก็ดีไทยสามารถมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม และสังคมกับไต้หวันได้ ดังนั้น ความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน จึงไม่น่าจะมีข้อแย้งในประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวันภายใต้หลักการ “จีนเดียว” และเป็นความตกลงที่น่าจะสนับสนุนได้ เพราะฝ่ายไทยจะได้รับประโยชน์ในการพัฒนาวงการศึกษาไทย และเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักศึกษาและนักวิจัยไทย

สำหรับวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้กำหนดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยและไต้หวันมีความร่วมมือในด้านต่างๆ คือ ๑) การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ผู้บริหารการศึกษาและนักศึกษา เพื่อศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของภาคี การแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการวิจัย ซึ่งทำให้เกิดผลงานทางวิชาการที่ทำร่วมกัน การตีพิมพ์ผลงานร่วมกัน หรือการศึกษาดูงาน ๒) การให้ทุนการศึกษาสำหรับอาจารย์และนักศึกษาไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองของภาคี ๓) การสนับสนุนความร่วมมือในการจัดหลักสูตรร่วมระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของภาคีในสาขาวิชาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ๔) การอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมให้แก่ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ๕) การศึกษารูปแบบของการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองของภาคีและการยอมรับคุณวุฒิการศึกษาและปริญญาในระดับอุดมศึกษาระหว่างกัน ๖) ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning) การเรียนรู้จากการทำงาน และสหกิจศึกษา ๗) ความร่วมมือในการจัดนิทรรศการทางการศึกษา การสัมมนาทางวิชาการ การประชุมทางวิชาการในหัวข้อที่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน การจัดการฝึกอบรม และการเข้าร่วมการประชุมและการอภิปรายทางการศึกษา ๘) ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่ภาคีให้ความเห็นชอบร่วมกัน


ที่มา - ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: