วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: ผิดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ประกาศให้มีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. แทนตำแหน่งที่ว่าง2 ตำแหน่ง คือ 1) ตำแหน่งผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ 2) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันนี้ (14 พ.ย.2554) ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง 8 คน ดังนี้ 1) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (มัธยมศึกษา)ได้แก่ นายวัชรินทร์ ศรีบุรินทร์ นายปณิธาน ณ นครและนายจารึก ศรีเลิศ 2) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ประถมศึกษา)ได้แก่ นายแสนศักดิ์ มีสิทธิ์ นายชาญ คำภิระแปง นายอดิศักดิ์มนตรี นายนนท์ แสงจันทร์ นายปานิก เข็มราช นายประทีป อินทร์พ่วงและนายอังกูล สมคะเนย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่จะต้องไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งและเพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อนครูกระทำผิดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงขอนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกรณีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา มานำเสนอเป็นความรู้ให้กับเพื่อนครู ดังนี้

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.2547 มาตรา 93 บัญญัติไว้ว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนเอง แสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคลกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการทุจริตโดยการซื้อสิทธิหรือขายเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งจะต้องไม่ให้การส่งเสริม สนับสนุนหรือชักจูงให้ผู้อื่นกระทำการในลักษณะเดียวกัน การดำเนินการที่ฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีตัวอย่างการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น
1) การกลั่นแกล้ง หรือกล่าวหา ให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นความจริง เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงของตน อาทิ จัดทำใบปลิวโจมตีคู่แข่งขัน
2) ผู้บริหารสถานศึกษาขอร้องและบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับการเลือกตั้งที่ตนสนับสนุน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนไปกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ของตน
3) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แจกเงินและเครื่องใช้ เช่น ร่มหรือของชำร่วย เพื่อจูงใจให้เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปลงคะแนนเสียงให้ตน เพื่อให้ตนชนะเลือกตั้ง เป็นการกระทำอันมีลักษณะทุจริต โดยการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งที่มีลักษณะไม่เป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ที่หยิบยกกรณีตัวอย่างมานี้ ก็เพื่อให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับความรู้และส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยใสสะอาดในแวดวงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั่นเอง และขออย่าลืมไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 2 ตำแหน่งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดนะคะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: