วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

'ชินภัทร'ค้านยุบ'องค์กรหลัก'เป็นกรม

นายชินภัทร ภูมิรัตนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่มีนายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ได้วางแนวทางการปรับโครงสร้างของ ศธ.ใหม่ โดยจะยุบระดับ (ซี) 11 เหลือแค่ปลัด ศธ. ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา อาจจะยังอยู่ในสังกัด ศธ. หรืออาจไปอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อาจจะแยกออกจาก ศธ. ส่วนระดับจังหวัดจะมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดดูแลการศึกษาทั้งจังหวัด โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) อยู่ภายใต้สำนักงานดังกล่าวว่า ศธ.เดินมาไกลกว่าจะกลับไปยึดระบบกรมแบบเดิมที่ดูจะโบราณ และมีนัยยะการรวมศูนย์การบริหารงาน การบริหารงานตอนนี้ จะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของการกระจายอำนาจ โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาดังนั้นควรต้องเติบโตไปในทิศทางนี้ น่าจะสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์มากกว่า หากใช้โครงสร้างแบบเดิมจะเป็นการย้อนยุคและถอยหลัง เราควรต้องปรับปรุงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตนจะลองติดตามเรื่องนี้และเสนอความเห็นและจุดยืนต่อคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายด้วย แต่จุดยืนดังกล่าวไม่เกี่ยวกับว่าต้องยึดกับที่เดิมตลอดไป แต่มองในเชิงวิวัฒนาการการบริหารมากกว่า

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุลรัฐมนตรี ศธ. มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการนั้น ขณะนี้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.)สพฐ. ได้สรุปผลการศึกษาวิจัยและการทำงานของเขตพื้นที่มาแล้ว และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมองค์กรหลัก ศธ.พิจารณาในวันที่19 ธันวาคม โดยจะเสนอเป็นทางเลือกในการปรับปรุงเขตพื้นที่ 2 แนวทางคือ

1.การปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื่นที่การศึกษามัธยมศึกษาไม่ให้เกิน 225 เขต
2.มีการปรับโดยไม่มีจำนวนเขตเป็นตัวกำหนด

ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้ จะต้องไม่เพิ่มเงินและไม่เพิ่มคน โดยจะนำข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุป ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) นั้น จะเสนอแนวทางการยึดตามเขตจังหวัด จะได้ไม่คร่อม 2-3 จังหวัด ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) จะปรับโดยคำนึงถึงระยะทางของโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ และความสะดวกในการติดต่อราชการ นอกจากนี้จะเสนอปรับปรุงโครงสร้าง สพฐ.เพิ่มเติม โดยจะให้มีสำนักการมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยตรง รวมทั้งจะเสนอให้มีสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้กิจกรรมด้านการพัฒนาไม่ต้องไปฝากไว้กับหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจเยอะอยู่แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: