วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ฟิตเด็กเก่งภาษา แบบฉบับ'กันทรลักษ์วิทยา'

"ประตูอาเซียนที่จะเปิดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน เราต้องเตรียมความพร้อมของเด็กให้ดี โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ซึ่งโรงเรียนเราให้ความสำคัญมาก" ปริญญา ผาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าว

โรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 1 ใน 362 โรงเรียนยอดนิยมของประเทศ มีนักเรียน 4,300 คนในปีการศึกษา 2554 ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียน 14 แห่งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ไปพัฒนาให้มีมาตรฐานสากล และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน หรือ Education Hub บริหารจัดการหลักสูตรทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ นานาชาติ พหุภาษา และหลักสูตรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์สองภาษา

ส่วนกันทรลักษ์วิทยา เป็นแบบพหุภาษานำร่องเฉพาะม.ต้น ซึ่งมีอยู่ 1 ห้องมีเด็กประมาณ 30 คน เรียนเป็นภาษาอังกฤษหมด ยกเว้นวิชาประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา และภาษาไทย เน้นภาษาอาเซียน มีครูจาก พม่า เวียดนาม เขมร และลาว เข้ามาสอน เพื่อให้เด็กสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ดี

เด็กในหลักสูตรปกติ จะได้เรียนรู้คำศัพท์จากครูต่างชาติวันละ 2-3 คำ มีกิจกรรมตอบคำถามภาษาอังกฤษตามสาย และ English camp ให้แก่เด็กด้วย ซื้อโปรแกรมสอนภาษาอิงลิชดิสคัฟเวอรี่ สื่อมัลติมีเดียที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอย่างรอบด้านทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน

ครูนานา-สุวรรณา ธานี หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และสุจิตรา อุทธิเสน ครูผู้ดูแลเด็กโปรแกรมพหุภาษา เล่าว่าใช้สื่อและเกมเข้ามาช่วยสอน ทั้งเด็กพหุภาษา และเด็กในหลักสูตรปกติตามหลักสูตรแกนกลาง เพราะทำให้เด็กสนุก และอยากที่จะเรียน ผิดกับการเรียนแต่ในหนังสืออย่างเดียว ทำให้เด็กเบื่อ และไม่ได้ฝึกปฏิบัติ

"เรียนภาษาให้ได้ผล ไม่ใช่เอาแต่สอน แต่ต้องรู้จักนักเรียนในชั้นด้วย เช่น ใครเรียนอ่อน เรียนเก่ง ซึ่งเราจะมีการประเมินศักยภาพ เด็กทั้งห้องก่อนทุกเทอมเพื่อดูว่า ใครอยู่ในระดับไหน และจะได้จัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามความเหมาะสม ครอบคลุมโดย เน้นปฏิบัติเป็นหลัก เช่น มีกิจกรรมกลุ่มให้เด็กเก่งและเด็กอ่อนได้ทำงานร่วมกัน ครูช่วยด้วย เด็กกับเด็กก็ต้องช่วยกันด้วย" ครูสุจิตรา เล่าถึงรูปแบบการเรียนการสอน

ด้านครูสุวรรณา เสริมว่า การจูงใจให้เด็กกล้าพูด กล้าเขียนภาษาอังกฤษนั้น ครูมีส่วนสำคัญมาก หากครูดุ และกดดันมากเกินไปอาจเพิ่มช่องว่างทางภาษาให้กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากครูใจดี สอนสนุก เอาใจใส่เด็ก พร้อมกับชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ และให้กำลังใจเมื่อเด็กทำไม่ได้ ภาษาจะค่อย ๆ เขยิบเข้ามาเป็นเพื่อนกับเด็กได้ไม่ยาก

ฝนริน-ปาณิศา ศิลบุตร อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นม. 2 ในโปรมแกรมพหุภาษา บอกว่า ภาษาไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เด็กรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะเป็นอย่างดี เพราะเป็นประตูสู่โอกาส และการงานที่ดีในอนาคต โดยครูมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเรียนภาษาอย่างมีความสุข

“เมื่อก่อนมองว่าภาษาเป็นเรื่องยาก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี พอมีครูมาแนะนำให้เริ่มจากร้องเพลงสากลที่ชอบ และค่อย ๆ แปลความหมายของเพลงทีละประโยค หนูก็เริ่มชอบ และสนุกกับมันมากขึ้น ได้ฟังเพลงเพราะ ๆ แล้วเรายังได้คำศัพท์ไปในตัวด้วย อีกอย่างที่หนูชอบเรียนภาษาอังกฤษ เพราะมีครูใจดี สอนสนุก และไม่กดดัน ที่สำคัญมีเกม และคอยหาสื่อมาสร้างสีสันอยู่เสมอ” เจ้าของรางวัลเหรียญเงินระดับภาคอีสานในการแสดงละครสั้นภาษาอังกฤษเล่า

เช่นเดียวกับกับ เก๊กฮวย-อังค์วราง ไชยะเดชะ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 นักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาของมูลนิธิโรตารี เผยว่าโรงเรียน และครูมีส่วนสำคัญในการฝึกทักษะทางภาษา มีครูไทยและครูต่างชาติที่สอนสนุก มีเกม และสื่อการสอนต่าง ๆ เข้ามาสร้างสีสีนในห้องเรียน ทำให้ภาษากลายเป็นเรื่องสนุก และไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด ที่สำคัญยังมีโปรแกรมสอนภาษาที่ครอบคลุมทั้งการฟัง พูด และอ่านให้เด็กได้ฝึกทักษะอีกด้วย ที่สำคัญอยากให้เด็กไทยสื่อสารภาษาสากลได้มาตรฐาน ครูผู้สอนต้องมีวิธีการสอนภาษาอังกฤษให้สนุกและได้คุณภาพ

โดย...ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: