วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)

13 ธ.ค.54 นายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการมอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ขณะนี้คณะกรรมการ ได้ประชุมหารือไปแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ปลัด ศธ.ควรเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดใน ศธ. รองจาก รมว.ศึกษาธิการ เหมือนในอดีต ส่วนในระดับจังหวัด และอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยที่เชื่อมโยงจากส่วนกลางลงภูมิภาคนั้นก็ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานเหมือนในอดีตเช่นกัน โดยอาจจะเป็นในรูปของคณะกรรมการ หรือจะเป็นอย่างอื่นก็ค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง สำหรับหน่วยงานระดับกรมนั้น ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันและได้ข้อยุติแล้วว่า ให้นำวิทยาลัยชุมชน (วชช.) มารวมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และให้ยกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ขึ้นมาเป็นกรม นอกจากนี้ให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ออกเป็นกรมวิชาการ กรมการประถมศึกษา และกรมการมัธยมศึกษา ส่วนชื่อหน่วยงานเหล่านี้จะมีการหารือกันอีกครั้ง ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ก็จะมีฐานะเป็นกรมเช่นกัน

"ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการจะประชุมกันอีกครั้ง เพื่อหารือว่าหากจะต้องแก้กฎหมายจะต้องทำอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงโครงสร้างของ ศธ.นั้น ผมอยากให้มองในหลักการว่าให้ ศธ.เป็นบ้าน แล้วจะทำอย่างไรให้บุคลากร ผู้บริหาร และครูทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตลอดจนเด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ จบแล้วมีงานทำ" นายโสภณ กล่าวและว่า สำหรับกรณีที่มีการออกมาคัดค้านนั้นอาจเป็นเพราะว่าบางหน่วยงานได้รับผลกระทบ เช่น สพฐ.ที่จะต้องปรับโครงสร้างเหลือแค่ระดับกรม ทั้งนี้การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่มีการเพิ่มเงินงบประมาณ เพิ่มตำแหน่งเป็นการดำเนินการในกรอบอัตรากำลังเดิมทั้งหมด ส่วนตำแหน่งเลขาธิการกพฐ. เลขาธิการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่จะมีฐานะเป็นกรมนั้น คนที่ครองตำแหน่งอยู่ ก็ยังครองตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะหมดวาระ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธีรวุฒิ บุณยโสภณอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าโครงสร้างปัจจุบันของศธ.โดยหลักการเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วางหลักการให้มีการกระจายอำนาจ แก้ปัญหาความอุ้ยอ้าย และความไม่คล่องตัวของ ศธ.ในอดีตแต่ที่ผ่านมา ศธ.กลับไม่ค่อยได้กระจายอำนาจตามหลักการ ยังมีการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางโดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง

"รมว.ศึกษาธิการ ควรจะมาดูแลแก้ไขปัญหา ให้เลขาธิการฯ แต่ละองค์กรหลักหันมาดูแลเรื่องการบริหารหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร และการกระจายอำนาจ มากกว่าที่จะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างของ ศธ.เพราะหากจะมีการแก้กฎหมายในเวลานี้จะทำให้เกิดสุญญากาศ เนื่องจากแต่ละองค์กรหลักจะไม่ยอมทำอะไร เพราะต้องการรอดูโครงสร้างใหม่ก่อน" รองประธาน ทปอ.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การจะปรับโครงสร้าง ศธ ใหม่ ในลักษณะของการกลับไปเป็นเหมือนเดิมเหมือนสมัยก่อนนั้นไม่น่าทำเพราะจะทำให้เสียเวลาเปล่าฯและยิ่งจะทำให้การบริหารงานของกระทรวงศึกษาไม่คล่องตัวเสียด้วยซ้ำควรนำเวลาที่จะคิดและทำในเรื่องนี้มาพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษาในเรื่อง ทำอย่างไรเด็กไทยจะสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมแห่งการแข่งขันที่จะเข้าสู่สังคมโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบและสามารถแข่งขันในเรื่องต่างฯกับนานาประเทศได้