วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.๒๕๕๕ ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ



นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายศักดา บูรณ์พงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “พ.ศ.๒๕๕๕ ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ” เมื่อค่ำวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่สนามหญ้าหน้า ศธ.

รมว.ศธ.กล่าวว่า การพูดภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยในวันนี้ คงเป็นความรู้สึกใหม่ที่คนไทยจะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในช่วงที่ผ่านมาแม้คนไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันลดน้อยลง ขณะนี้คนไทยอาจจะยังขาดการฝึกฝนให้พูดภาษาอังกฤษตั้งแต่ในวัยเรียน การกระตุ้นให้นักเรียนได้พูดภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่ง ศธ.มีความมุ่งหวังให้คนไทยเกิดความกล้าที่จะพูด ไม่จำเป็นต้องพูดด้วยสำเนียงอังกฤษ ขอให้พูดได้ และกล้าพูด ก็ถือเป็นความสำเร็จของโครงการแล้ว

สำหรับ ศธ.ได้กำหนดให้วันจันทร์เป็นวันภาษาอังกฤษของ ศธ.ที่จะได้ใช้ภาษาอังกฤษในการทักทาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกผิด แต่ขอความร่วมมือให้ช่วยกันพูด ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะต้องการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าการพูดภาษาอังกฤษเป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นอาจจะมีการขยายเวลาของการพูด จาก ๑ วันต่อสัปดาห์ เป็น ๒ วัน หรืออาจจะเพิ่มชั่วโมงขึ้นเรื่อยๆ

การกำหนดให้วันจันทร์เป็นวันภาษาอังกฤษในโรงเรียน เป็นการพูดทักทาย เพื่อทำให้การใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพื่อฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคย และเพื่อติดต่อสื่อสารในสังคมอาเซียนและประชาคมโลก โดย ศธ.จะให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมของทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดมุมภาษาอังกฤษ การประกวดพูดภาษาอังกฤษ การจัดค่ายภาษาอังกฤษ การจัดทำสื่อและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร เป็นต้น โดยจะจัดให้มีกิจกรรมทั้งภายในโรงเรียน การประกวดแข่งขันระหว่างโรงเรียน ระหว่างภาค และในระดับประเทศต่อไป สำหรับการพิจารณาไม่ได้ดูที่ความเก่ง แต่จะดูจากการฝึกฝนให้นักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ให้สามารถพูดได้ จนกระทั่งสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งโรงเรียนหรือไม่

โครงการ “พ.ศ.๒๕๕๕ ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ” เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ. กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือด้านการสอนภาษาต่างประเทศ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ สถาบันสอนภาษาต่างประเทศ (บริติช เคาน์ซิล และเอ ยู เอ) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ๒๕๕๕ เพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ผลิตและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมบนฐานรากของความรู้ และมีความคิดสร้างสรรค์ และมีความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน ๕ ภูมิภาคของโลก การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การรณรงค์การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดถึงกว่า ๑,๐๐๐ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลก นอกจากนั้นภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียนอีกด้วย โดยโครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่องทุกๆ ปี แต่จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนไทยทั้งประเทศสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นภาษาที่สอง

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: