วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หลักสูตรรู้ทันภัยพิบัติลดความสูญเสีย

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดงานมหกรรม "เด็กไทยเรียนรู้ภัยพิบัติ" เพื่อชวนเด็กเยาวชนไทย รับมือแผนน้ำท่วมปี 55 โดย ดร.สมิทธธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่าจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สะท้อนว่าหากเรามีความรู้และให้การศึกษาที่ดี ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลง แต่จนถึงปัจจุบันเรายังไม่มีหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติ และภัยจากธรรมชาติ เมื่อเกิดอะไรขึ้นจึงไม่สามารถรักษาตัวรอดได้ ในอนาคตรัฐบาลต้องให้ความสนใจเรื่องภัยธรรมชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติจะสามารถเรียนรู้ในการเอาชีวิตรอดได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีการเรียนการสอนเรื่องภัยธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เด็กจะรู้ว่าต้องหลบใต้โต๊ะเพื่อความปลอดภัยรวมถึงการให้ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์เบื้องต้นตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นรากฐานของการเกิดสภาวะทางธรรมชาติต่างๆ

"สิ่งสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้คือ ภัยธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะดิน น้ำ ลม ไฟแต่มาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและลมสุริยะที่ทำให้เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวซึ่งจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวฉับพลันและภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำทะเลที่ระเหยจำนวนมากจะกลายเป็นฝนที่ตกในปริมาณมากจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่เด็กควรรับรู้" ดร.สมิทธ กล่าว

ด้านนายวิทยา ศฤงคาร ครูผู้สอนวิชาบูรณาการสังคมศาสตร์ รร.ประถมรุ่งอรุณ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ต้องปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเรียนรู้เรื่องภัยธรรมชาติ โดยใช้ธีม "วิกฤติโลกวิกฤติใกล้ตัว" เป็นลักษณะโครงงานที่ประสานการเรียนรู้หลายวิชา มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ข่าว คณิตศาสตร์ใช้เรียนในเรื่องสัดส่วน วิทยาศาสตร์ใช้อธิบายเชื่อมโยงทฤษฎี ให้เกิดการคิดวิเคราะห์เหตุผล แล้วสร้างออกมาเป็นโครงงานให้เด็กคิดวิเคราะห์ หาวิธีเอาตัวรอดในภาวะภัยพิบัติ ทำให้เด็กสนใจและพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์จริงในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: